เขียนโดย ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช   

จัดการความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน

วิจารณ์ พานิช
Globalization_and_its_discontents_CoverPage

      แรง บันดาลใจในการเขียนบทความนี้ได้มาจากการอ่านหนังสือ Globalization and Its Discontents แต่งโดยศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 และเป็น International Bestseller คงจะทราบกันดีนะครับว่าท่านผู้นี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ของปี พ.ศ.2544

     คำ หลัก (keyword) ในที่นี้คือ “การเปลี่ยนผ่าน” (transition) เป็นคำที่ให้ความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง การมีเป้าหมายบางอย่างอยู่ข้างหน้า ซึ่งแน่นอนเป็นเป้าหมายไปสู่สภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน

     สาระ สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การชี้ให้เห็นว่าองค์กรหลักด้านการเงินและการค้าของโลก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การค้าโลก เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนขบวนการโลกาภิวัตน์ใน รูปแบบที่ล้มเหลวในการสร้างโลกที่มีความสุข ราบรื่น และลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน คือ แทนที่จะเป็นโลกาภิวัตน์เพื่อโลก กลายเป็นโลกาภิวัตน์เพื่อประเทศร่ำรวย

     แต่เราจะไม่จับประเด็นหลักนั้นนะครับ เราจะเก็บเล็กผสมน้อย จับเอาประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้มาคุยกัน

     ใน หน้า 104 หัวข้อ “ยกแรกของความผิดพลาด” กล่าวหา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ, International Monetary Fund) ว่า “ให้ยาผิด” ในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกที่เริ่มต้นเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2540 เหตุที่ให้ยาผิดก็เพราะวินิจฉัยโรคผิด คิดว่าเป็นโรคเดียวกันกับลาตินอเมริกา จึง “วางยา” ชนิดเดียวกัน

     นี่ คือบทเรียนด้านการจัดการความรู้ เป็นบทเรียนที่ประเทศไทยเจ็บปวดมาก เพราะเรายอมไอเอ็มเอฟ ยอมให้เขาเอาความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในลาตินอเม ริกามาใช้กับประเทศไทย ซึ่งเวลาได้ผ่านมานานพอที่จะพิสูจน์แล้วว่า ผิด เพราะ เป็นการใช้ความรู้ผิดบริบท (context) เอา ความรู้ในบริบทลาตินอเมริกามาใช้กับปัญหาไทย ซึ่งเป็นบริบทคนละแบบ เพราะ “ผู้เชี่ยวชาญ” ของไอเอ็มเอฟ ไม่เชี่ยวชาญจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่เชี่ยวชาญในบริบทไทย เขาไม่มี tacit knowledge ในสถานการณ์ไทย

     ใครเล่าจะรู้และเข้าใจ tacit knowledge เกี่ยวกับสังคมไทยเท่ากับคนไทย คน ไทย/นักวิชาการไทย ได้ช่วยกันยกระดับ tacit knowledge เกี่ยวกับสังคมไทยด้านต่าง ๆ กันอย่างแข็งขันเพียงพอแล้วหรือยัง และได้ “หมุนเกลียวความรู้” SECI เกี่ยวกับสังคมไทย จนเกิดทั้ง explicit knowledge และ tacit knowledgeที่คมชัด น่าเชื่อถือ และใช้การได้ แล้วหรือยัง

     เราใช้วิธีการใดในการ “หมุนเกลียวความรู้” (knowledge spiral) นั้น

     เท่า ที่ผมสังเกต เราหมุนเกลียวความรู้ โดยใช้วิธีการด้านการวิจัยเป็นหลัก ยังขาดการดำเนินการจากอีกมุมหนึ่ง โดยใช้วิธีการด้านการจัดการความรู้

     ใน ทางเป้าหมาย การวิจัยกับการจัดการความรู้เกี่ยวข้องกับ “ความรู้” เหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติ มีการกระทำหลายอย่างที่ทำแบบขั้วตรงกันข้าม

     ในการวิจัย เรามุ่งหา “ปัญหา” มาดำเนินการวิจัย แต่ในการจัดการความรู้ เรามุ่งหา “ความสำเร็จ” มาดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรา มุ่งหาความสำเร็จในจุดเล็กจุดน้อยต่างจุดกัน นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการขยายผลไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้น หรือทั่วทั้งองค์กร เราอาศัยความสำเร็จเป็นเครื่องมือสร้างความชื่นชม และบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้ความมั่นใจในความสามารถที่จะ คิด-ทดลอง เป็นพลังในการขยายผล

     ศ. สติกกลิทซ์ กล่าวหาว่า การตัดสินใจขององค์การระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นการตัดสินใจแบบปราศจากข้อมูลและหลักวิชา มักเป็นการตัดสินใจจากแรงขับดันของอุดมการณ์ (ตลาดเสรี-เศรษฐกิจแข่งขัน) เป็นการยึดถืออุดมการณ์ในลักษณะคลั่งอุดมการณ์ (fundamentalism) ซึ่งผมตีความว่าหมายถึง บ้าคัมภีร์ หรือยึดมั่นถือมั่นอยู่กับทฤษฎีหรือความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง โดยไม่เปิดหูเปิดตารับรู้และเรียนรู้ทฤษฎีหรือความรู้ชุดอื่น

     เห็นไหมครับ เพราะไอเอ็มเอฟ ไม่ทำเรื่องจัดการความรู้ จึงทำงานผิดพลาด

     แต่ ศ. สติกกลิทซ์ เขียนในหนังสือทำนองว่า ที่ไอเอ็มเอฟทำงานผิดพลาดไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้ แต่เพราะลำเอียง เนื่องจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

     กลับมาเรื่อง จัดการความรู้ของเราดีกว่า

     ใน การจัดการความรู้ ต้องมีการเอาความรู้ที่เป็น “local content” หรือความรู้เกี่ยวกับบริบทของเรื่องนั้น ๆ ในแต่ละสังคม ประกอบเข้ากับความรู้หลักในประเด็นนั้น ๆ ด้วย ศ. สติกกลิทซ์ ยกตัวอย่างไว้ในหน้า 138 ให้เห็น “มายา” ของถ้อยคำ ที่ คนทั่วไปอาจเข้าใจไม่ตรงกันกับความหมายในสังคมต่างสังคม โดยยกตัวอย่างคำว่า “ธนาคาร” (bank) ในรัสเซียสมัยเพิ่งล่มสลายใหม่ ๆ (พ.ศ.2532) มีความหมายต่างจากธนาคารในประเทศตะวันตกหรือในบ้านเรา ซึ่งธนาคารเป็นเครื่องมือในการกระจายทุน คือ รับฝากเงินและนำไปให้กู้แก่ผู้ที่ต้องการเอาไปลงทุน โดยพิจารณาตัดสินใจว่า จะให้กู้หรือไม่ตามโครงการของธุรกิจนั้น ๆ ว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี และสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้ แต่ “ธนาคาร” ในรัสเซียเมื่อรับฝากเงินแล้ว จะนำไป “ให้ทุนสนับสนุน” (fund) ตามนโยบายของรัฐบาลกลาง เพราะระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นระบบรวมศูนย์ ไม่ใช่ระบบแข่งขันแบบในโลกเสรี

     มายา ของถ้อยคำที่ก่อความเจ็บปวดอย่างยิ่งต่อสังคมไทยก็คือ คำว่า “การเปิดเสรีทางการเงิน” เราหลงไปเลียนแบบการเปิดเสรีตามอย่างประเทศตะวัน ตก ที่กลไกและองค์กรตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน มีความเข้มแข็ง เป็นกรณีที่สังคมไทยต้องเสีย “ค่าโง่” ครั้งใหญ่ที่สุด การผลักดันการเปิดเสรีทางการเงินและการตลาดโดยไอเอ็มเอฟ ธนาคาร โลก องค์การค้าโลก และสหรัฐอเมริกานี่แหละ เป็นกรณีที่ ศ. สติกกลิทซ์ ตำหนิว่าเป็นการจัดการที่เลวต่อขบวนการโลกาภิวัตน์ ท่านบอกว่าโลกาภิวัตน์ไม่ใช่ของเลว แต่วิธีการจัดการโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมา เลว ทำให้เกิดผลด้านลบต่อคนจนหรือประเทศจน ต่อสิ่งแวดล้อมโลก และต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจโลก

     กลับมาที่การจัดการความรู้ การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนผ่านของสังคม น่าจะต้องใช้ 2 แนวควบคู่กัน คือ

  1. แนวพัฒนาทีละเล็กละน้อย ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่ง อาจเรียกว่าแนว CMC (Continuous Minute Change) หรือ CQI (Continuous Quality Improvement) ซึ่งเมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจในมิติใหม่ (new order) ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ขึ้นมา จนในที่สุดก็จะสามารถ “คว้า” (capture) ความรู้ในมิติใหม่นั้นได้ เกิดการพัฒนาในลักษณะก้าวกระโดด สู่กระบวนทัศน์ใหม่ นี่คือแนวของการจัดการความรู้
  2. แนวพัฒนาสู่นวัตกรรม โดย มีเป้าหมายก้าวกระโดดสู่นวัตกรรมเลยทีเดียว แนวทางนี้คือ แนวทางวิจัย สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา แล้วนำความรู้ใหม่นั้นไปประยุกต์ใช้ ทำให้เกิดสินค้าหรือวิธีการ (เทคโนโลยี) ผลิตที่ก้าวกระโดด (innovative)

     ประเทศไทยไม่ปฏิเสธการเข้าสู่ขบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งน่าจะถูกต้อง แต่จะต้องรู้จัก “จัดการความรู้เพื่อโลกาภิวัตน์ของสังคมไทย” การ จัดการความรู้ดังกล่าวไม่สามารถพึ่งผู้อื่นหรือประเทศอื่นได้ คนไทย สังคมไทย องค์กรไทย จะต้องเป็นผู้จัดการความรู้เพื่อเป้าหมายนี้ โดยอาศัยพลังพื้นฐาน 3 ประการคือ (1) พลังของความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง (2) พลังของการทดลองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในสังคมไทย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปนอกสังคมไทย และ (3) พลังของการลงมือทำจนเกิดเป็นทักษะ เกิดความชำนาญ จนทำเป็นอัตโนมัติ เป็นนิสัย หรือเป็นวิถีชีวิต


อ้าง อิง: The International Bestseller Book, "Globalization and Its Discontents" แต่งโดยศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545

 
เป็นแฟน สคส.
ติดตาม
คลิ๊ปวีดีโอ