ประวัติความเป็นมา
(อ้างอิง Annual Report 2004-2007)
สถาบัน ส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือ สคส. นั้นกล่าวได้ว่าถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นต้นมา โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการทดลอง เพื่อการจัดการความรู้ในระยะเริ่มต้น เป็นเวลา 3 ปี แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สกว. ได้มอบหมายต่อให้ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาพิเศษของ สกว. รับผิดชอบบุกเบิกงานจัดการความรู้ (โครงการ นำร่องเครือข่ายการจัดการความรู้) ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม พ.ศ.2546 (ประกาศแต่งตั้ง 2546) เพื่อการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ "มีการจัดการความรู้ในทุกหย่อมหญ้า"
ตั้งแต่ ปี 2546-2548 สคส. เริ่มต้นศึกษาและพัฒนา “ศาสตร์” ด้านการจัดการความรู้ในสังคมไทย โดยผ่านโครงการนำร่อง โครงการให้ทุนต่างๆในประเทศ (โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ใน รพ.ภาคเหนือตอนล่าง, โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิข้าวขวัญ) รวมทั้งการศึกษาทฤษฎีจัดการความรู้จากต่างประเทศ จนได้โมเดลการจัดการความรู้ รวมทั้งเครื่องมือการจัดการความรู้ต่างๆที่เหมาะสมกับบริบทของไทย (โมเดลปลาทู - ปลาตะเพียน, เครื่องมือชุดธารปัญญา, การใช้สุนทรียสนทนา)
ปี 2548สคส.ดำเนินงานจัดทำ Workshop มากมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้มีบทบาทในการทำการจัดการความรู้ ให้กับกลุ่มและหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ จนมีความมั่นใจและเข้มแข็งพอจะทำหน้าที่เผยแพร่การจัดการความรู้ในสังคม ไทย
ปี 2549 สคส.จึงเริ่มงานเปลี่ยนผ่านการทำงานเป็นการผ่องถ่ายหน้าที่ ”การจุดประกายการพัฒนาขีดความสามารถและการเป็นพี่เลี้ยง (จัด KM Workshop)” ให้หน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่นี้ได้เอง โดยที่ สคส.ได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็น “ตัวเชื่อมร้อยโครงข่ายการจัดการความรู้สำหรับสังคมไทย”
ปี 2550 การทำงานของ สคส. เน้นมาที่บทบาทการเป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยงและแกนนำจุดประกายการจัดการความรู้ของสังคม จนได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากทั้งหน่วยงานราชการ บริษัท กลุ่ม เครือข่าย และชุมชน ได้เข้ามาปรึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานผลักดันร่วมกันอย่าง กัลยาณมิตร ซึ่งโดยท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อสร้างเสริมการใช้ทุนทางปัญญาในสังคมไทยไป พัฒนาทุกภาคส่วนของสังคมอย่างยั่งยืน ให้มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการทำงาน โดยได้ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในสังคมไทย มีมากมายหลายด้าน ได้แก่
- สคส. เป็นผู้ดำเนินการหลัก ”จัดเวทีขับเคลื่อนการจัดการความรู้" โดย...
- สคส. เป็นวิทยากรกระบวนการในกิจกรรม KM Workshop ร่วมกับภาคีเครือข่าย
- การเป็นวิทยากรกระบวนการ KM และการบรรยายให้แก่หน่วยงานต่างๆ
- ร่วมมือกับภาคีในการจัดเวทีหรือกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนเครือข่าย
- การเข้าร่วมงานและกิจกรรม KM ที่หน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดขึ้น
- การค้นหา KM ในที่ต่างๆ เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ สร้างกระแสการขับเคลื่อน KM
|
วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 มีการประชุมหารือ “การก่อตั้งมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม”
วันที่ 19 ตุลาคม 2550 สคส. ได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อ สังคม (ม.สคส.)
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิมีมติแต่งตั้งให้ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551
วันที่ 31 มีนาคม 2551 การดำเนินงานของสคส. ได้เสร็จสิ้นตามภารกิจที่ได้รับตามสัญญาที่มีไว้กับ สสส. และ สกว. เป็นการปิดโครงการในหน้าที่ผู้รับทุนอย่างสมบูรณ์ และเปลี่ยนบทบาทการดำเนินการมาเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
|