OM แค่รู้จักไม่พอ ต้องปรับประยุกต์และขยายผลให้ได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง โครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก PDF พิมพ์ อีเมล

OM แค่รู้จักไม่พอ ต้องปรับประยุกต์และขยายผลให้ได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง

โครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก

ดาวน์โหลดเอกสารโครงการ pdf_icon

 

โครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก ดำเนินการ
สร้างเสริมศักยภาพให้แกนนำชุมชนของตำบลต่างๆ (โดยเฉลี่ยจังหวัดละ ๓ ตำบล ที่เป็นพื้นที่หลัก
ของโครงการฯ) ใน ๗ จังหวัดของภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานสุขภาวะตำบล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการมีส่วนร่วมด้านการเมืองของชุมชน รวมทั้งผลักดันให้พื้นที่ดำเนินการ
ใน ๗ จังหวัด ได้เป็นตำบลต้นแบบสุขภาวะตำบล ที่คนในชุมชนเรียนรู้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

ก้าวแรกของการเรียนรู้ OM

Tambon_West_html_m4865ee83 (Small)

คุณพรภิรมย์ ดิศกัมพล หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวว่า

ตอนที่เข้า Workshop OM ที่ สสส. จัดขึ้น และมี สคส. ดำเนินกระบวนการนั้น โครงการพัฒนางาน-บูรณาการตำบลสุขภาวะ ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก เข้าร่วมทั้งหมด ๔ คน โดยหลังจากที่อบรมมาแล้ว ทั้ง ๔ คนก็มานั่งคุยกันว่า จริงๆ แล้วข้อดีของ OM หนึ่ง คือ ทำให้คนทำโครงการได้เห็นกลุ่มเป้าหมาย
ที่ชัดมากยิ่งขึ้น OM จะเข้าไปเกี่ยวกับภาคีหลักๆ ด้วยว่า ถ้าเราจะทำเรื่องนี้ เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
กับใคร

 Tambon_West_html_55d67877 (Small)

จากเดิมที่เมื่อเราพูดถึงชุมชน ก็จะพูดกว้าง เป็นกลุ่ม กว้างไปกว่าปัจเจก แต่สำหรับ OM
ถ้าบอกว่า กลุ่ม ก็ต้องบอกได้ว่า กลุ่มอะไร เช่น ถ้าเราบอกว่า จะพัฒนาศักยภาพแกนนำ เราก็จะไล่ได้เลยว่า แกนนำกลุ่มไหนบ้าง กลุ่มป่าชุมชน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นต้น จากเดิมหรือ เมื่อก่อน เวลาทำแผนฯ
เราจะมองข้ามจุดนี้ไป

ข้อดีอีกส่วนหนึ่งคือ OM สามารถที่จะบอกเป้าหมายให้กับเราได้ เป็นตัวควบคุมการทำงานของเราบอกทิศทางการทำงานที่ชัดให้กับเรา”

 

เมื่อรู้ว่าดีและมีประโยชน์ จึงต้องเผยแพร่ต่อให้กับภาคีในพื้นที่

 

แม้ว่า โครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก ได้เข้าร่วม Workshop กับทาง สสส. และ สคส. แล้ว และไม่ได้นำไปใช้ในการปรับปรุงแผนการดำเนินงาน
ของโครงการฯ แต่ทางโครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ ได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ไปขยายผล
การเรียนรู้เครื่องมือ OM ให้กับทีมงานและภาคีในพื้นที่ดำเนินการของโครงการอย่างครอบคลุมแทบทุกพื้นที่

 

ด้วยความที่เรามองเห็นประโยชน์แบบนี้ ก็เลยคิดว่า น่าจะไปจัดอบรมเผยแพร่ต่อให้กับทีมงานและภาคีในพื้นที่ตำบลที่เราทำงานด้วย คือ อบต. และกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ในแต่ละตำบล น่าจะมีตัวแทน
จากกลุ่มเหล่านี้ เข้ามาเรียนรู้เรื่องของ OM ว่าเป็นอย่างไร แล้วถ้าจะนำไปใช้ต้องใช้อย่างไร

หลังจากนั้น จึงมาวางแผนการจัดอบรม OM ซึ่งเดิมตั้งใจจะจัดอบรมให้ทั้ง ๗ จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แต่ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาโครงการระยะใหม่ กับ สสส. พอดี ก็เลยไม่ได้จัดอบรม OM ให้กับพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เราจึงอบรมทั้งหมด ๖ ครั้ง ๖ จังหวัด ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีแกนนำชาวบ้านหรือแกนนำกลุ่มต่างๆ
ในพื้นที่ อบต. และนายก อบต. มาเข้าร่วมด้วย เพราะเป็นภาคีหลักของโครงการฯ อยู่แล้ว”

 

นอกจากนั้น คุณสถาพร อิ่มเอิบสุข ผู้ประสานงานวิชาการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า

 

Tambon_West_html_27c96143

ตอนนั้นคิดว่า ถ้า สสส. ใช้ OM เป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการ เราก็น่าจะล้อกับทาง สสส. คือ ใช้เครื่องมือเดียวกันกับพื้นที่ดำเนินการของเรา การพูดคุยจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน และอีกอย่างหนึ่ง
เราคิดว่า OM มีประโยชน์ เราก็เลยไปส่งเสริมให้กลุ่มในพื้นที่ของเราได้รู้จักเครื่องมือนี้ด้วย

ซึ่งรูปแบบการอบรม OM เราใช้หลักการแนวเดียวกับที่ สคส. จัด แต่ปรับคำพูด คำอธิบายให้เหมาะกับพื้นที่ ให้สอดคล้องกับบริบท เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น โดยเราปรารถนาให้ภาคีในพื้นที่ ได้เรียนรู้ และสามารถนำไปปรับให้พื้นที่ นำไปใช้ได้จริงๆ หากพื้นที่คิดว่า OM ดี มีประโยชน์กับงานของเขาเอง

โดยส่วนใหญ่ หลังจากที่เราอบรมไปให้แล้วแต่ละพื้นที่ ก็จะไปจัดอบรม OM แบบเดียวกันนี้ เผยแพร่ต่อให้ในพื้นที่ของตนเอง เพราะตอนที่เราจัดอบรมให้ ด้วยงบประมาณ ด้วยเวลาจำกัด ทำให้แต่ละพื้นที่
ส่งคนมาเข้าร่วมได้น้อย มาได้เฉพาะแกนนำ ดังนั้น เมื่อแกนนำได้เรียนรู้เรื่อง OM กับเราไปแล้ว ได้แนว
ได้ Concept แล้ว เขาก็จะไปขยายผลต่อให้กับกลุ่มในพื้นที่ของเขาเองต่อไป เขาก็นำความรู้เหล่านี้ ไปทำ
ในพื้นที่เขาอีก

แต่ก็มีส่วนหนึ่ง ที่นำกระบวนการของ OM ไปทบทวนแผนการทำงานของเขาเอง คือ เวลาเราทำงาน เราจะมีทีมงานของเราและแกนนำส่วนหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งแกนนำแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ก็จะเป็นแกนนำ อบต. เป็นหลัก บางพื้นที่ก็จะเป็นแกนนำชาวบ้าน

ทีมงานของเราในพื้นที่ ได้นำกลุ่มภาคีหลักของแต่ละพื้นที่ของตนเอง มานั่งพูดคุย และพิจารณาแผนการดำเนินงาน ที่เขียนด้วย OM ที่ร่วมกันวางแผนเอาไว้ นำมาปรับแผนให้เหมาะสม สอดคล้อง
ตามสภาพความเป็นจริงและความเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากแผนที่เขียนในช่วงเวลาที่อบรม ค่อนข้างจำกัด
ด้วยเวลา และจำนวนคนที่เข้าร่วม ดังนั้น บางพื้นที่จึงมีกระบวนการปรับแผน OM ในส่วนนี้เพิ่มเติม”

 

 

การประยุกต์รูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ OM เพื่อให้เหมาะกับชุมชน

 

คุณสถาพร อิ่มเอิบสุข ผู้ประสานงานวิชาการ ได้กล่าวถึงรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ OM ที่มี
การปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแกนนำชาวบ้าน และชุมชน ดังนี้

 

ทีมงานของเรา ๔ คน ได้เข้าร่วมอบรม OM กับ สคส. แล้ว เราก็นำมาอบรมต่อให้กับทีมงานคนอื่นๆ ทุกคน โดยใช้กระบวนการเดียวกับที่ สคส. อบรมให้

เมื่อทีมงานทั้งหมดของเรา รู้จักและเข้าใจ OM แล้ว เราก็ให้แต่ละพื้นที่ เป็นคนไปอบรมต่อให้กับชาวบ้าน ใครรับผิดชอบพื้นที่ไหนก็ไปจัดอบรม OM ให้กับพื้นที่นั้น ซึ่งก่อนที่จะไปอบรมให้กับชาวบ้าน ทีมงานจะต้องมีการทำความเข้าใจในแต่ละขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ ให้ชัดเจนร่วมกันก่อน แต่ละขั้นตอนมีเป้าประสงค์เพื่ออะไร เนื้อหาหลักของแต่ละขั้นตอนคืออะไร

โดยเฉพาะการปรับคำ เพื่อให้สื่อสารกับชาวบ้านได้เข้าใจ และไม่ยากเกินไป จนชาวบ้านรู้สึกท้อ แล้วก็ปรับวันอบรมในพื้นที่กับชาวบ้าน เหลือเพียงแค่ ๒ วัน ๑ คืน ซึ่งไปอบรมแรกๆ ชาวบ้านก็งงๆ แต่ต่อมาก็เริ่มสนุก

ส่วนรูปแบบและกระบวนการ OM ที่ได้เรียนรู้จาก สคส. ทางโครงการฯ เรา ได้นำไปใช้
ในการอบรมเกือบทุกขั้นตอน แต่ขั้นตอนท้ายๆ เราจะขมวดเป็นเรื่องเดียวกัน คือ กลยุทธ์ กับแนวทางการสนับสนุนขององค์กร เราปรับใช้เป็นคำว่า ‘แผนการดำเนินงาน’ แทน เพราะ ๒ ขั้นตอนนี้ เมื่อไปคุยกับชาวบ้านแล้ว รู้สึกว่า ชาวบ้านเข้าใจยาก เลยปรับให้เป็นขั้นตอนเดียวกัน และใช้คำใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สำหรับขั้นตอน Vision ก็เปลี่ยนเป็น ‘ภาพฝัน’ คือ เราจะพยายามสื่อให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ
โดยกระบวนการก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอน ‘ภาพฝัน’ เราจะให้ชาวบ้านมานั่งทบทวนก่อนว่า พื้นที่ตัวเอง
เป็นอย่างไร ให้ชาวบ้านทำ SWOT พื้นที่ของตัวเอง ให้ทบทวนอดีตของชุมชนของตัวเองเป็นอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วในอนาคต อยากจะเห็นอะไร โดยให้เขียนเป็นตัวหนังสือหรือวาดภาพก็ได้
แล้วนำเสนอ ซึ่งเราก็จะโยงเข้ามาสู่ขั้นตอน ‘ภาพฝัน’ และขั้นตอนอื่นๆ ของ OM ต่อได้เลย

ส่วนพันธกิจ เราไม่ค่อยได้เน้น เราจะ เน้นไปที่ ‘ภาพฝัน’ มากกว่า

ขั้นตอนต่อไป คือ ‘ภาคีหลัก’ ภาคีของเราทำ ‘ภาพฝัน’ ของเขา โดยที่เขาต้องดูว่า ใครจะเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมาช่วยทำให้ ‘ภาพฝัน’ ของเขาเป็นจริงได้บ้าง บางพื้นที่มี อบต. หรือนายก อบต. มาเข้าร่วมอบรม ภาคีหลักของ อบต. ก็อาจจะเป็น แกนนำชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มป่าชุมชน ส่วนพื้นที่ที่มีแกนนำชาวบ้านเข้าร่วมอบรม ภาคีหลักของเขาก็อาจจะหลากหลาย ซึ่งต้องดูว่า แกนนำชาวบ้านที่เข้าอบรมนั้น
เป็นกลุ่มอะไร เช่น หากเขาทำเรื่องการเกษตร กลุ่มภาคีหลักของเขาก็จะเป็นเกษตรกร

และเขาอยากเห็น ‘ภาคีหลัก’ ของเขาเป็นอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้บรรลุ ‘ภาพฝัน’ ร่วมกัน
ซึ่งก็คือ การสร้างความท้าทายเชิงผลลัพธ์ และการกำหนด Progress Marker เรามาปรับ Progress Marker
ให้เป็นตัวชี้วัด ที่จะบอกว่า ในแต่ละขั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อย่างไรบ้าง

ส่วนภาคียุทธศาสตร์ เราแค่ให้ชาวบ้าน List ออกมาว่า มีใครบ้าง แล้วแต่คนหรือแต่ละกลุ่มมีบทบาทอะไรบ้าง

ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการอบรม OM ของเรา คือ การกำหนด ‘แผนการดำเนินงาน’ และ
แตกออกมาเป็นกิจกรรม ที่เราได้รวบ ๒ ขั้นตอนเดิม คือกลยุทธ์ กับแนวทางการสนับสนุนจากองค์กร และนำมาย่อยเป็นกิจกรรม โดยเราทำหน้าที่หนุนเสริมหรือช่วยเสริมให้เขาได้ไปถึง ‘ภาพฝัน’ ของเขาให้ได้

หลังจากนั้น ก็จะมีการนำเสนอแลกเปลี่ยนระหว่างตำบลกัน และเราก็จะมีเอกสารสรุปแต่ละขั้นตอนให้เขาเอากลับไปใช้ในพื้นที่ด้วย เพื่อที่เขาจะได้เปิดดูเพื่อทบทวนแต่ละขั้นตอนได้ง่ายๆ

ในส่วนของเวทีชาวบ้าน เวลาเราไปสื่อกับเขา จะต้องมีการปรับเรื่องคำพูดที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งกระบวนการที่จะต้องไม่ออกมาในเชิงวิชาการมากเกินไป ต้องปรับให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่

โดยช่วงที่เราจัดอบรม เราจะย้ำว่า นี่คือการมาเรียนรู้เครื่องมือ เมื่อไปในพื้นที่ของตัวเองแล้ว ก็ให้กลับไปพูดคุยในพื้นที่ และนำภาคีหลักของเขามาร่วมคิดร่วมทำด้วย เพราะในแต่ละพื้นที่ ก็ยังมีอีกหลายภาคีหลัก เขาก็ต้องกลับไปทำให้ครบ ซึ่งทุกพื้นที่ก็กลับไปพูดคุยและทำแผน OM กันอีก โดยมีทีมงาน
ของเราเป็นผู้ประสานงานระหว่างพื้นที่กับทางโครงการเราในส่วนกลาง

กลุ่มแกนนำที่เราไปอบรม OM ให้ ส่วนใหญ่เข้าใจหลักการ OM ดี เพราะเราพยายามใช้คำเพื่อสื่อให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าประเมินจากเวที เราจะเห็นว่า เขาได้เห็นวิธีการทำงาน วิธีคิด
ที่แตกต่างไปจากเดิม คิดต่างไปจากที่เขาคุ้นเคย หรือแม้กระทั่งบางเวทีที่มีแกนนำเป็นเทศบาลตำบลมาเรียนรู้ OM เขาก็สะท้อนออกมาว่า เขามีวิธีการคิดที่แตกต่างไป คือ ถ้าเป็นหน่วยงาน
ในท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการรับคำสั่ง รับนโยบาย ไม่ได้มีการนำผู้ที่เกี่ยวข้องมานั่งพูดคุย วางแผนร่วมกันเลย เขาก็เลยเห็นความแตกต่าง และเป็นเรื่องใหม่”

 

คุณค่าของ OM คือ แผนที่ในการติดตามความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ

 

คุณพรภิรมย์ ดิศกัมพล หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวถึง คุณค่าของเครื่องมือ OM ต่อการบริหารจัดการโครงการฯ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

จริงๆ แล้วในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ เราไม่ได้ยึดเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง เราก็ชัดเจนมาตลอดว่า OM ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ถ้าเรามองในเชิงคุณค่าของ OM ก็คิดว่า ได้ประโยชน์มาก เป็นเครื่องมือที่ดีในการบริหารจัดการโครงการฯ ทำให้คนทำงานคิดอย่างเป็นระบบ มีการติดตามความก้าวหน้าทีละขั้นๆ

แต่ถ้าสมมติว่า เราใช้ OM ทั้งหมดเลย ข้อดี คือ มันจะเจาะจงคนได้ชัด แต่ข้อเสียคือ เมื่อเราเจาะ
คนชัด มันจะทำให้เราไม่มองเรื่องอื่นไปเลยหรือไม่ คือ เหมือนกับว่า เราก็จะมุ่งไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สนใจอะไรรายทาง ในขณะที่ เวลาที่เราทำแผนโดยที่ไม่ได้มีตัวอะไรมาบล็อค เราก็เหมือนกับว่า
คิดอะไรได้เยอะกว่า เพราะไม่มีตัวมาบล็อค เพราะฉะนั้น เวลานำมาใช้ คิดว่า มันน่าจะใช้ทั้ง ๒ ส่วน เพราะว่า หากอิสระ คิดอะไรได้กว้าง ก็จะกว้างมากเกินไป แต่อย่างน้อย OM ทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัด แต่ก็อย่าลืมไปมองส่วนอื่นๆ ด้วย คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้งานของเราไม่กว้างและไม่แคบจนเกินไป

สิ่งที่ดีอีกอย่างหนึ่งของ OM คือ ทำให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ เพราะ
อย่างน้อยๆ ชาวบ้านหรือแกนนำแต่ละตำบล พื้นที่ ก็ได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ การจะคิดจะทำอะไรก็ตาม ไม่ใช่มีเฉพาะ ๔-๕ คน มาคิดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของหมู่บ้าน ของคนทั้งตำบล
ต้องเกี่ยวข้องกับคนทุกคน ตรงนี้ ที่รู้สึกว่า แกนนำที่มาอบรม OM ได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วมกัน
อย่างกว้างขวางในพื้นที่

ตอนที่เราไปอบรม OM ให้กับพื้นที่ ถือว่า เป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้กับพื้นที่อย่างหนึ่ง คือ นอกเหนือจากที่เขาทำงานกับเราแล้ว เขาก็ยังจะได้มีการเพิ่มศักยภาพด้านอื่นๆ ไปด้วย เป็นเครื่องมือที่เขาสามารถนำไปใช้กับงานอื่นๆ ในพื้นที่ได้อีกด้วย

นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่การทำงานของเรา ได้เข้าร่วมในการอบรม OM ด้วย และเห็นว่า เป็นเครื่องมือที่ดี ก็ได้มาเชิญทีมของเราให้ไปช่วยอบรมเรื่อง OM ให้กับหน่วยงานเขาด้วย เช่น ปปส. ภาคตะวันออก เป็นต้น”

 

Tambon_West_html_724d3230 (Small)

ส่วน คุณสถาพร อิ่มเอิบสุข ผู้ประสานงานวิชาการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า

 

สำหรับการติดตามความก้าวหน้าในส่วนที่เราหรือโครงการฯ ต้องดูแล คิดว่า หากในพื้นที่
มีการวางแผนด้วย OM มีขั้นตอนของ Progress Marker ที่ชัดเจน ในการติดตามเราก็จะง่ายขึ้น
ว่าแต่ละพื้นที่ดำเนินการ หรือมีความก้าวหน้าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เพราะอย่างน้อยๆ เราจะได้มีเป้าในการลงไปติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ได้ ชาวบ้านเอง
ก็จะรู้และดูได้ว่า ขณะนี้เขาอยู่ในขั้นไหน มีความก้าวหน้าไปในระดับไหนแล้ว ตรงไหน
ที่เขายังไม่ได้ทำ ตรงไหนที่เขาทำได้แล้ว เพราะตอนที่เราอบรม เราก็บอกเขาไปว่า มันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยติดตามการดำเนินงานของพื้นที่ และการพัฒนาตัวเขาเอง เพราะสิ่งที่เขียนอยู่ในแผนแบบ OM เป็นสิ่งที่เขาร่วมกันวาดฝัน เป็นสิ่งที่คนในตำบลต้องการจะทำเพื่อไปให้ถึง ‘ภาพฝัน’ นั้นๆ อยู่แล้ว เราทำหน้าที่เพียงแค่กระตุ้นให้เขาทำให้ได้ตามที่เขาฝันร่วมกันให้ได้ โดยผ่านการติดตามความก้าวหน้าของแต่ละพื้นที่

นอกจากนั้น OM ช่วยทำให้ทีมงานของเราทำงานเป็นระบบขึ้น เพราะมีตัวชี้วัดรายทางหรือ Progress Marker ว่า ทำแบบนี้ แล้วพื้นที่ได้อะไร แม้จะไม่ละเอียดมากนัก แต่ก็เป็นตัวนำ
ให้เราได้พูดคุยกับชาวบ้านหรือในพื้นที่ได้ว่า ทำไปถึงไหนแล้ว ทำได้แล้วหรือยัง ได้มากน้อย
แค่ไหน และทิศทางที่ช่วยทำให้เราดูการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาของพื้นที่ในแต่ละขั้นๆ ได้
ทำให้เราและชาวบ้านหรือพื้นที่รู้ว่า ตอนนี้เราอยู่ห่างไกล ‘ภาพฝัน’ มากน้อยแค่ไหนแล้วจะทำกันอย่างไรเพื่อไปให้ถึง ‘ภาพฝัน’ นั้น

เมื่อพื้นที่ได้เรียนรู้ OM แล้วมีการทำแผนการดำเนินงานตำบลสุขภาวะ ที่ช่วยทำให้ทีมส่วนกลางสามารถกระตุ้น ส่งเสริมการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ ให้เดินไปถึง ‘ภาพฝัน’ ที่พื้นที่ช่วยกันกำหนด หรือ ‘ภาพฝัน’ ที่พื้นที่ต้องการทำให้เกิดขึ้นจริงได้”

 

ข้อเสนอแนะเพื่อให้ OM เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

 

คุณพรภิรมย์ ดิศกัมพล หัวหน้าโครงการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อเครื่องมือ OM
ได้ดังนี้

 

หากต้องการให้ชุมชนหรือชาวบ้านได้รู้จักและเรียนรู้ OM ในส่วนของกระบวนการ เวลาที่เรานำไปใช้กับชุมชน เราต้องไปปรับในแง่ของคำ ซึ่งถ้าคนนำหรือคนทำกระบวนการเข้าใจความหมาย
ของแต่ละคำแต่ละขั้นตอน ก็จะสื่อสารกับชาวบ้านได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านก็จะเข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้งานได้จริงๆ

นอกจากนั้น ควรจะมีการจัดทำเอกสารหรือคู่มือเกี่ยวกับ OM ประกอบการอบรมด้วย
จะช่วยทำให้การอบรม OM ง่ายมากขึ้น เพราะตอนที่เราไปอบรมในพื้นที่ เราก็ตั้งใจที่อยากจะทำคู่มือ OM เช่นกัน เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อในพื้นที่ แต่เรายังไม่ได้ทำเป็นคู่มือที่ชัดเจนมากนัก
แต่คิดว่า น่าจะมี เพราะในหลายพื้นที่ก็สนใจจะนำ OM ไปใช้ต่อ หากทาง สสส. มีการจัดทำคู่มือ ส่งมาให้ เราก็จะได้นำมาปรับให้เป็นคู่มือ OM ที่เหมาะสมกับพื้นที่หรือชาวบ้านของเราต่อไป”

 

 

แม้โครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก จะได้รู้จักและเรียนรู้เครื่องมือ OM พร้อมทั้งเล็งเห็นว่า เป็นเครื่องมือที่ดีและมีประโยชน์ ในการบริหารจัดการโครงการพัฒนา โดยเฉพาะการมีแผนที่ในการติดตามความก้าวหน้าของภาคีและโครงการพัฒนาของชุมชนอย่างเป็นระบบแล้ว ยังได้มีความคิดและดำเนินการเพื่อเผยแพร่ขยายผลให้ภาคี
ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเรียนรู้ด้วยเช่นกัน โดยได้ปรับประยุกต์รูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ OM ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานพัฒนา เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการกระตุ้น ส่งเสริมการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ ให้เดินไปถึง
ภาพฝัน’ ได้เกิดขึ้นเป็นจริงในที่สุด

 

โครงการพัฒนางานบูรณาการตำบลสุขภาวะ

ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก

๕/๑๐๕๑ หมู่ที่ ๑๐ หมู่บ้านประชาชื่น ซอย ๑๖ ถนนสามัคคี

ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐