ที่มาที่ไปของ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ”
“โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” เป็นโครงการย่อยของชุดโครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์นมแม่
แห่งประเทศไทย
“โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้ร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ และกรมอนามัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมส่งออก โดยมีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์เป็นแกนหลักในการคัดเลือกและตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยจากการศึกษาในครั้งนั้น ทำให้เห็นโอกาสในการที่จะขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมที่จะขับเคลื่อนให้มีนโยบายสาธารณะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยสำหรับแม่ทำงานในระยะต่อไป
“โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ คือ
๑. เพื่อส่งเสริมให้ภาคราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทในการสนับสนุน การจัดมุมนมแม่ ในสถานประกอบกิจการ
๒. เพื่อขยายพื้นที่ จำนวน ประเภทและลักษณะของสถานประกอบกิจการ
๓. เพื่อพัฒนามุมนมแม่ต้นแบบให้ได้มาตรฐาน
๔.เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับแม่ทำงานในสถานประกอบกิจการ
๕. เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะในภาคราชการส่วนท้องถิ่น
แรกเริ่มที่รู้จักกับ OM
“โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้รู้จักกับ “แผนที่ผลลัพธ์” หรือ OM เนื่องจาก สสส. แนะนำและเชิญชวนให้ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้นำหลักการ OM มาเขียน
เป็นแผนการดำเนินงาน ซึ่งโครงการฯ เอง มีแผนการดำเนินงานอยู่บ้างแล้ว
ต่อมา สสส. จึงได้จัดให้มีการอบรมเป็นการภายในกลุ่มเล็กๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ของ “โครงการ
มุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้เรียนรู้และรู้จักกับ OM เพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้น ผู้บริหารของโครงการฯ ได้เข้าร่วมเรียนรู้ OM เพิ่มเติมกับทาง สสส. อีกเวทีหนึ่ง และต่อมา ทีมผู้ประสานงานโครงการฯ ก็ได้เข้าร่วม Workshop OM Planning ที่ สสส. จัดขึ้นอีกครั้ง โดย
ในครั้งนี้ มีทีมของ สคส. เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้
จึงเรียกได้ว่า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้แยกย้ายไปเรียนรู้เรื่องหลักการและแนวคิดของ OM กันอย่างทั่วถึง

จุดเริ่มต้นของการลองผิดลองถูกกับงานจริง
แม้ว่าในช่วงแรกๆ ของการลองผิดลองถูกกับการนำ OM มาประยุกต์ใช้กับงานของ “โครงการ
มุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” จะค่อนข้าง “สับสน” และยังไม่ได้เขียนแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ด้วย OM อย่างเต็มรูปแบบ เพียงแต่นำหลักการของ OM มาเป็นกรอบในการเขียนแผนการดำเนินงานเท่านั้น
แต่เพราะความกล้าที่จะลองผิดลองถูก จึงทำให้ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ “โครงการ
มุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” เริ่มพูดจาภาษา OM อย่างเข้าใจกันมากขึ้น และเริ่มมองเห็นภาพของ OM ที่ซ้อนทับอยู่กับงานเดิมของการทำงานอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เริ่มระบุได้อย่างแน่ชัดว่า ใครคือ ตัวเชื่อมหลัก ใครคือ ตัวเชื่อมรอง ใครคือภาคีหลัก หรือภาคีโดยตรง หรือใครคือภาคียุทธศาสตร์
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้เลือกแนวทางการดำเนินงาน ที่จะเข้าไปทำงานกับกลุ่มภาคีหลักได้ง่ายมากยิ่งขึ้น สามารถที่จะแบ่งส่วนรายละเอียดของการทำงานกับภาคีเครือข่ายได้ค่อนข้างชัดเจน
OM ช่วยให้การทำงานกับภาคีหลักมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” เป็นโครงการย่อยของชุดโครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์นมแม่
แห่งประเทศไทย เป็นโครงการฯ ที่มีการนำหลักการแนวคิดของOM เข้ามาประยุกต์ใช้ค่อนข้างมากกว่าโครงการย่อยอื่นๆ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในวิธีการดำเนินงานของโครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบ-กิจการ
คุณวิจิตรา สุวรรณอาสน์ ผู้ประสานงานวิชาการ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ผู้รับผิดชอบ“โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” กล่าวว่า

“ถือว่า เป็นจังหวะดี ที่เมื่อไปเรียนรู้ OM มาแล้ว โครงการย่อย ที่รับผิดชอบอยู่ เริ่มต้นระยะใหม่พอดี เลยนำ OM เข้ามาเป็นกรอบในการเดิน ซึ่งข้อดีที่สุดของ OM คือ ช่วยทำให้เราเดินงานได้ชัดขึ้น มองเห็นภาคีหลักและภาคียุทธศาสตร์ ของโครงการฯ ค่อนข้างจะชัด เดินไปถูกทิศทางมากขึ้น ทำให้เราชัดขึ้นว่า เราจะทำอะไร กับใคร ขั้นตอนการทำงานจะเป็นวิธีไหน ทำให้เรามองได้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ทำงานง่ายขึ้น เพราะเราแบ่งได้ว่า ไหนเป็นภาคีหลัก ภาคีรอง บางภาคีก็เพิ่มขึ้นมา บางภาคี ก็หายไป
ทำให้เกิดความชัดเจนของโครงการฯ มากขึ้น ในการแยกกลุ่มภาคีหลักกับภาคียุทธศาสตร์ ภาคีหลักก็คือ สถานประกอบการ ส่วนภาคียุทธศาสตร์ เราก็จะใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อทำให้ ภาคีหลักสามารถดำเนินการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการได้ ภาคียุทธศาสตร์ก็จะเป็นกรมสวัสดิการ-แรงงานฯ กรมอนามัย กทม. เป็นต้น โดยเรามีเป้าหมาย เพื่อขยายมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ออกไป ทั่วประเทศ
ส่วนขั้นตอนของ Progress Marker ในระดับ Expect To See วางไว้ว่า มีเกณฑ์ในการทำมุมนมแม่ และจะต้องมีนโยบายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในการทำมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ซึ่ง ๑๐๐ สถานประกอบกิจการของกระทรวงแรงงานฯ ที่เปิดตัวไป ก็มีการนำเกณฑ์เหล่านี้ของเราไปใช้ แล้วก็ ผูกอยู่กับกิจกรรมการประเมินสถานประกอบการดีเด่นด้านการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงาน
ในส่วนของภาคีหลัก ได้กำหนดไว้ว่า ให้รับรู้และเข้าใจในเรื่องของนโยบายมุมนมแม่ ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว สำหรับในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน มีทั้งระดับกระทรวง ระดับจังหวัด คือ ตอนนี้ ทางสวัสดิการจังหวัด ได้เข้าไปเชื่อมต่อกับสถานประกอบกิจการ และมีนโยบาย ว่าจะมีการคัดเลือกสถานประกอบกิจการ จังหวัดละ ๑ แห่ง ขึ้นมา
โดยทีมเราจะเป็นผู้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลของสถานประกอบกิจการ ซึ่งปัจจุบัน การตอบรับจากสถานประกอบกิจการที่สนใจ เริ่มสอบถามข้อมูลเข้ามาบ้างแล้ว แต่เรายังไม่ได้ลงไปดู ในสถานประกอบกกิจการว่า พร้อมหรือไม่ มีแนวทางการปฏิบัติหรือไม่ โดยเราจะจัดทำหนังสือคู่มือแนวทางปฏิบัติ มีแผ่นพับ สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ พร้อมกับมีใบสมัคร และใบประเมิน ไปให้ด้วย ซึ่งทางเราร่วมมือกับทางจังหวัด ให้ช่วยกระจายใบสมัครไปยังสถานประกอบกิจการในแต่ละจังหวัด แล้วขอให้สถานประกอบ-กิจการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ส่งใบสมัครกลับมาที่เรา เพื่อที่เราจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
สิ่งเหล่านี้ เป็นแผนการดำเนินงานหรือกิจกรรมที่เราวางแผนและดำเนินการอยู่แล้ว แต่เมื่อรู้จัก OM เราก็นำมาใส่กรอบของ OM
ส่วนขั้นตอนของ OM ที่เรานำมาใช้ได้มาก และเหมาะกับโครงการฯ ของเราที่สุด คือ การแบ่งภาคี ที่เราทำงานด้วยโดยตรง กับภาคีที่เป็นส่วนของนโยบาย
OM ช่วยทำให้เเรามองเห็นภาคีที่เราจะทำงานด้วยโดยตรงชัดขึ้น เช่น เราต้องทำงานกับพยาบาล ในสถานประกอบกิจการ เพราะพยาบาลเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ก็รู้เลยว่า เราต้องส่งเสริมให้ความรู้กับพยาบาลเหล่านี้ เพราะพยาบาลที่ทำงาน ในสถานประกอบกิจการ ต้องทำงานทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ สุขภาวะอนามัยของบุคลากร ในสถานประกอบกิจการ ทั้งดูแล รักษา ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่ง OM ช่วยทำให้เห็นลักษณะของการทำงานที่ชัดมากขึ้น เรารู้ว่า ใครคือคนที่เราจะไปทำงานด้วย แล้วเราจะไปทำงานกับเขา ในลักษณะไหน
ตอนแรกๆ ก็ค่อนข้างสับสนกับการแบ่งภาคีหลักกับภาคียุทธศาสตร์ แต่ตอนนี้ มีความชัดมากขึ้น ซึ่งตัวเราต้องมองภาพตัวเองให้ออกด้วยว่า กับภาคีหลักเราจะทำอะไรกับเขา กับภาคียุทธศาสตร์ เราต้อง ทำอะไรบ้าง ต้องให้ชัด เพราะไม่อย่างนั้น มันจะงงมาก
ตรงนี้ช่วยทำให้เราจะเห็นบทบาทของแต่ละส่วนได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าจริงๆ แล้ว คนที่เราจะต้อง ลงไปเล่นด้วย คือ สถานประกอบกิจการ แต่บางครั้งเราก็ลงเข้าไปผลักกับภาคียุทธศาสตร์ด้วย
ส่วนภาคียุทธศาสตร์ ก็มี 2 ระดับ คือ ระดับใหญ่ หรือส่วนกลาง เช่น กระทรวง ระดับย่อยก็จะเป็นหน่วยราชการในพื้นที่ ซึ่งมันมีขาเกี่ยวโยงกันอยู่หลายส่วน หลายหน่วยงาน ต้องมีขั้นตอนเยอะ และต่างกรมต่างหน่วยงาน ก็มีระเบียบวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน แม้สถานประกอบกิจการจะเป็นภาคีหลักของเรา แต่ในสถานประกอบกิจการ ก็จะแบ่งภาคีหลักย่อยลงไปอีก และในแต่ละสถานประกอบกิจการก็จะมีโครงสร้างองค์กรของแต่ละแห่ง ไม่เหมือนกัน ซึ่งจากเมื่อก่อนเราก็ทำงานแบบตาบอดคลำช้าง มองงานไม่ออก ไม่ชัดมาก บางที ไม่มีใครมาช่วย มองอะไรก็ไม่ค่อยชัด แต่พอได้เรียนรู้ OM ก็รู้สึกว่า ทำให้เรามองงานที่จะทำ แต่ละขั้นตอนได้ชัดขึ้น
นอกจากนั้น ข้อเด่นอีกข้อหนึ่งของ OM คือ ช่วยทำให้เรา Monitor ดูได้ว่า เราได้ดำเนินการและ พบความสำเร็จหรือผลสำเร็จในระดับหรือขั้นไหนแล้วบ้าง ทำให้เราสามารถเขียนเป็นรายงานความก้าวหน้า ที่จะส่งให้กับ สสส. ได้ง่ายและชัดเจนมากกว่าเดิม เพียงแต่ว่า ณ ขณะนี้ เรายังไม่ได้เขียนออกมาเป็นรายงานความก้าวหน้าที่ชัดเจนว่า เราทำไปถึงระดับขั้นไหนของ Expect To See, Like To See หรือ Love To See
จริงๆ แล้ว ก็อยากทดลองเขียนรายงานความก้าวหน้าตามรูปแบบของ OM เหมือนกัน แต่ยังไม่มีแบบฟอร์ม เรียกได้ว่า อยู่ในช่วงของการเรียนรู้การประยุกต์ใช้ OM แบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ทั้งในส่วนของการวางแผน การติดตามประเมินผล และการเขียนรายงานความก้าวหน้า”
ก้าวต่อไปของ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” กับเครื่องมือ OM
“แม้ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของศูนย์นมแม่ฯ จะรู้จัก OM ไม่ครบหมดทุกคน ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้บริหารเจ้าหน้าที่ทุกคน หรือแม้แต่ทีมประเมิน รวมทั้ง Node ควรได้เข้ามาเรียนรู้ OM ด้วยเช่นกัน ต้องมีการอบรมให้กับ Node ได้แก่ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศูนย์อนามัยฯ เขต และสถานประกอบ-กิจการใน ๓ จังหวัดนำร่องด้วย จะได้รู้เท่าๆ กัน พูดจาประสานงานกันได้ง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ OM
“การวางแผนการดำเนินงานโดยใช้ OM ควรจะต้องวางให้เป็นระบบไปเลย ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง รวมไปถึงการวางแผนการติดตามและประเมินผลตั้งแต่เริ่มต้นด้วย
แต่ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ คิดว่า หากนำ OM มาใช้มันจะยากมาก เพราะมีความซับซ้อน และ มีส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ในความคิดเห็นส่วนตัว มองว่า ควรเริ่มจากการนำ OM มาใช้ ในโครงการขนาดเล็กๆ ก่อน น่าจะทำให้เข้าใจได้ชัดเจนมากกว่า
สำหรับแนวทางการนำ OM มาใช้กับศูนย์นมแม่ฯ คิดว่า ทางศูนย์ฯ จำเป็นจะต้องมีการหารือ กันอีกครั้ง เพราะศูนย์ฯ มีกรรมการชุดใหญ่เป็นตัวหลักในการกำหนดทิศทางหรือวางแผนการดำเนินงาน ซึ่งกรรมการชุดใหญ่นี้ ก็น่าจะต้องรู้เรื่องของ OM ด้วย แต่ก็มีบางท่านรับทราบบ้าง แต่บางท่านอาจจะไม่รู้จักเครื่องมือนี้เลย ก็อาจจะทำให้ค่อนข้างยาก หากจะต้องวางแผนด้วยการใช้ OM ต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันก่อน ทั้งในระดับกรรมการและบุคลากรทั้งหมด จะได้เข้าใจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
สำหรับ สสส. ในฐานะที่ เราเป็นภาคีของ สสส. เราได้เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ เยอะมาก แต่มันเยอะเกินไป จนเราไม่รู้ว่า จะใช้อะไร แบบไหน และ สสส. ควรมีการติดตามต่อเนื่องในการนำเครื่องมือต่างๆ ไปใช้กับแผนงาน/โครงการ แล้ว หรือคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับแผนงาน/โครงการ ปล่อยให้แผนงาน/โครงการ ได้ทดลองหรือนำเครื่องมือต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จาก สสส. ไปสักระยะหนึ่ง แล้วมีการติดตามก็จะช่วยทำให้แผนงาน/โครงการ มั่นใจมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะจัดให้มีเวทีพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกันระหว่างแผนงาน/โครงการอื่นๆ ว่าแผนงาน/โครงการอื่นๆ ได้นำเครื่องมือต่างๆ หรือ OM ไปใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี”
แม้ว่า “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” จะเป็นโครงการย่อยของชุดโครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ซึ่งยังมีโครงการย่อยอยู่อีก ๔-๕ โครงการ แต่ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” เป็นโครงการ ที่มีการนำหลักการแนวคิดของOM เข้ามาประยุกต์ใช้ค่อนข้างมาก และแม้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการประยุกต์ใช้หลักการแนวคิดของ OM กับโครงการฯ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดผลดีต่อการดำเนินโครงการฯ คือ การเข้าถึง เข้าใจ และกล้าทดลองนำไปปฏิบัติจริงในงาน จึงทำให้ “โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ได้รู้จักและเห็นประโยชน์ของ OM และนำคุณค่าของ OM มาประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ
ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
ชั้น ๑๑ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
|