โครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ต้องการเห็นเยาวชนดำรงวิถีจิตอาสาร่วมพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดการพัฒนาในบริบทชุมชนลุ่มน้ำขาน เพื่อนำเยาวชนสู่ดุลย์แห่งคุณค่า
ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างแกนนำเยาวชนจิตอาสา และใช้ฐานองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิบัติการร่วมรักษาลุ่มน้ำขาน รวมทั้ง ขยายผลกิจกรรม
ที่ทำสำเร็จ เพื่อประยุกต์สู่วิถีชุมชน รวมทั้งมุ่งหวังให้แกนนำเยาวชนสามารถเป็นผู้นำ และสร้างทีมแกนนำเยาวชนเครือข่ายรุ่นต่อไปได้
โดยภาคีโดยตรงของโครงการฯ คือ แกนนำเยาวชนในพื้นที่อำเภอสะเมิง อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง เพราะคิดว่า เยาวชนเป็นความหวังของสังคม เยาวชนเป็นกลุ่มที่จะหล่อหลอมสิ่งที่ดีๆ
ให้กับเขาได้ เป็นผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ จึงเลือกที่จะให้เป็นภาคีหลักของโครงการฯ
โดยมีภาคียุทธศาสตร์ที่เป็นหน่วยงานองค์กรจากทุกภาคส่วนในชุมชน โดยเฉพาะ บ-ว-ร คือ บ้าน วัด โรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ในพื้นที่
การดำเนินงานของโครงการฯ ใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างกระบวนการพัฒนาเยาวชนจิตอาสา รวมทั้งสร้างระบบพี่เลี้ยง องค์กรหนุนช่วย โดยให้พระและครู เป็นที่ปรึกษา ให้กับแกนนำเยาวชน
จิตอาสาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากการดำเนินงาน คือ แกนนำเยาวชนและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ อาทิ โรงเรียนยั้งเมิน โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ โรงเรียนบ้านแม่โต๋ อำเภอสะเมิง มีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์
ลุ่มน้ำแม่ขาน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำขาน โดยมีครูในโรงเรียน ที่ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำขาน และพืชผักในลุ่มน้ำขานที่หายาก หรือที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์ไว้ โดยให้แกนนำเยาวชนเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ แกนนำเยาวชนได้เรียนรู้
และซึมซับแนวคิดการอนุรักษ์ลุ่มน้ำ และเกิดจิตอาสาในการทำสิ่งดีๆ เพื่อท้องถิ่นและชุมชน

โครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินงาน ๑ ปี ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจนเกือบจะสิ้นสุดโครงการแล้ว และอยู่ในช่วงของการประเมินผล
การดำเนินงานโครงการฯ
ก้าวแรกของการเรียนรู้เครื่องมือ OM เพื่อต่อยอดกับงานที่ทำอยู่เดิมในพื้นที่
อาจารย์นพวรรณ บุญธรรม หัวหน้าโครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่
ได้กล่าวถึงจุดเริ่มแรกของการได้เข้ามาเรียนรู้เครื่องมือ OM ไว้ดังนี้

“สสส. เชิญเข้าร่วมอบรม OM ที่มี สคส. เป็นผู้ดำเนินกระบวนการ โดยในครั้งนั้น โครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำปิง ได้เข้าร่วมเรียนรู้ ทั้งหมด ๔ คน
เมื่อได้เรียนรู้เครื่องมือ OM แล้ว เราพบว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแกนนำเยาวชน และเครือข่าย ในพื้นที่ ซึ่งเราทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายค่อนข้างมาก มาสวมใส่กรอบคิดของ OM ได้เป็นอย่างดี แม้โครงการฯ ที่ขอทุนสนับสนุนจาก สสส. จะเน้นประเด็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำขาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีอีกหลายๆ โครงการที่เข้ามาทำงานร่วมกันอยู่ โดยแต่ละโครงการเชื่อมโยงถึงกันหมด
เนื่องจากโครงการฯ นี้ เราทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของลุ่มน้ำขาน โดยบริเวณต้นน้ำแม่ขาน อยู่บริเวณหมู่บ้านห้วยทรายขาว อำเภอสะเมิง ซึ่งลุ่มน้ำขานเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ดังนั้น เครือข่ายใหญ่ของเราคือ ลุ่มน้ำปิง ที่ครอบคลุม ๕ จังหวัด
โดยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาทั้งตอนต้น และตอนปลาย ที่อยู่ในพื้นที่บริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ขาน ในพื้นที่ ๓ อำเภอ คือ อำเภอสะเมิง อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส รวมไปถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย
เรามีการทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนเหล่านี้ ตั้งแต่นำมาเข้าค่ายกิจกรรมป่าต้นน้ำ เรื่องลุ่มน้ำ เขาก็อาสาทำกิจกรรมประกวดเรียงความวาดภาพต่างๆ ซึ่งเราต้องการให้เขาเติบโตเป็นเยาวชน ที่มีเครือข่ายและรักษาลุ่มน้ำไว้ได้อย่างยั่งยืน เด็กและเยาวชนบางคนบางกลุ่มเรียนจบ และไปศึกษาต่อ ในพื้นที่อื่นๆ แล้ว แต่ทุกครั้งที่มีกิจกรรมของโครงการฯ แกนนำเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จะกลับมา ร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ และแกนนำเยาวชนรุ่นน้องทุกครั้ง

โดยตอนที่เข้าอบรม OM กับ สสส. และ สคส. ในครั้งนั้น เราได้นำเนื้องานเดิมที่ทำอยู่แล้วในพื้นที่ มาใส่กรอบ OM ซึ่งพบว่า มันเป็นรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าเราจะนำกรอบ OM มาตั้ง หรือนำเนื้อหาการทำงานของเราไปใส่ มันก็ใช่เลย ตรงนี้เราก็ทำอยู่ อันนี้เราก็ทำอยู่ ก็เลยได้คำตอบว่า จริงๆ แล้วมันก็อยู่ในสิ่งที่ เราเป็น และสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว”
คุณค่า OM ที่สัมผัสได้
“สำหรับเครื่องมือ OM มองว่า ช่วยการทำงานโครงการฯ ได้อย่างมาก และทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงภาพการทำงานทั้งหมด ทำให้การดำเนินงานของเราชัดมากขึ้น
OM ไม่ได้เป็นทฤษฎี ที่เข้าใจยาก เมื่อก่อนก็เคยเรียนมาเป็นทฤษฎี ซึ่งยากมาก ในการทำความเข้าใจ แต่ OM ที่รู้จักจะสัมผัสได้ถึงความง่ายและกลมกลืนกับงานที่ทำจริงๆ

อีกทั้งยังเคยรู้จักเครื่องมือที่คล้ายๆ กับ OM ตั้งแต่สมัยที่เรียนปริญญาโท ที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดเป้าหมาย กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเดิน อาจจะไม่ใช้เครื่องมือ OM ทั้งหมด แต่มีหลายๆ ขั้นตอน ที่คล้ายคลึงกัน แต่เมื่อได้มาเรียนรู้ OM ก็นำสิ่งที่ทำมาใส่ตามกรอบหรือขั้นตอนต่างๆ ของ OM ก็รู้สึกว่า ‘ใช่’
ตอนแรกที่ฟัง ก็รู้สึกว่า OM คืออะไร แผนที่ผลลัพธ์เป็นอย่างไร จะใช่หรือไม่ เมื่อได้ฟังก็รู้สึกว่า มันใช่เลย พยายามนำไปสู่การปฏิบัติกับงานที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งเราก็มองเห็นผลที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน มองเห็นรูปร่างประเด็นตามที่ได้อบรมมา OM ถือว่า เป็นประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการเลือกภาคี ทั้งภาคีโดยตรงและภาคียุทธศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญมากๆ ต่อการทำโครงการพัฒนาต่างๆ ส่วนภาคีโดยตรงของโครงการฯ ชัดเจนอยู่แล้วว่า คือ เด็กและเยาวชน โดยมุ่งตรงไปที่โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นหลัก นำจากสิ่งที่ทำนั้น มาใส่กรอบ OM
ส่วนขั้น Progress Marker ตอนแรกก็ไม่รู้ว่า คืออะไร แต่เมื่อมาอ่านรายละเอียดของขั้นตอนนี้ ก็รู้สึกว่า มันใช่สิ่งที่เราทำอยู่เลยจริงๆ
เมื่อรู้จัก OM เราก็มองเห็นคุณค่าจากงานที่ทำเพิ่มมากขึ้น ทำให้มองไปถึงสิ่งที่เราจะต้องทำให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เราต้องคำนึงถึงทุกส่วนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานหรือกิจกรรมที่เราทำมากขึ้น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ และภาคีโดยตรง ที่เราต้องมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดเป็นเครือข่าย ที่ยั่งยืน ให้เขาดำเนินการต่อ ไม่ให้หลุดจากเป้าหมายหลัก เป็นเยาวชนกลุ่มไหนก็ได้ในพื้นที่ ที่มีจิตอาสา เราก็จะสนับสนุนให้เขาได้ทำกิจกรรม ซึ่งเราทำหน้าที่สนับสนุน และติดตามพัฒนาการ ความก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของกลุ่มเยาวชนที่เข้ามาร่วมในโครงการหรือกิจกรรม และจากที่ทำมา เราเห็นพัฒนาการของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการอย่างมาก

คิดว่า OM เหมาะกับการดำเนินโครงการ เพราะการดำเนินงานหากมี Map หรือมีแผนที่ มันก็ดีอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคนี้ด้วย มีการกำหนดทิศทางที่ทำให้เรามองเห็นการเปลี่ยนเปลงที่ดีขึ้นจากการดำเนินงานของเราได้ดีมากขึ้น แต่การนำ OM ไปใช้ ต้องปรับให้เหมาะ กับแต่ละท้องถิ่นและสร้างความเข้าใจที่เหมาะกับกลุ่มที่เราจะทำงานด้วย”
โครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่มีต้นทุนทางสังคมและชุมชนสูงมาก มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่มากมาย โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องการหล่อมหลอมและเสริมสร้างศักยภาพแกนนำเยาวชนที่มีจิตอาสา มีปัญญา เห็นคุณค่าของวิถีชุมชน โดยนำเรื่องของการอนุรักษ์ลุ่มน้ำขานเป็นตัวเดินเรื่อง และเชื่อมโยงไปกับงานพัฒนาในด้านอื่นๆ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ครบวงจร ที่สร้างฐานปัญญาให้เยาวชนได้เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน จากจิตใจของแกนนำเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จนกระทั่งสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของชุมชน ได้อย่างยั่งยืน
หลักการแนวคิดของ OM จึงสอดคล้องกับเนื้องานของโครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ ลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบแน่น
โครงการเครือข่ายเยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำปิง
มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
ตำบลหางดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๒๓๐
|