คอลัมน์ "ความรู้ยุคที่ 2" นี้ เป็นคอลัมน์สำหรับชวนท่านผู้อ่าน "พลิกสมอง" ปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับความรู้ การทำงาน การบริหารจัดการหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุด ปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเราเองครับ
ปรับเข้าสู่ "ยุคความรู้" ไงครับ
นั่น หมายความว่า "กระบวนทัศน์" ปัจจุบันของเรา ๆ ท่าน ๆ นั้นอยู่ในสภาพ "ตกยุค" หรือล้าหลัง เพราะเรายังมีกระบวนทัศน์ของยุคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตแบบ mass production และมองมนุษย์เป็น "แรงงาน" กระบวนทัศน์นี้จะทำให้สังคมไทยเราล้าหลัง เพราะยุคนี้ต้องผลิตแบบ mass customization และต้องมองมนุษย์เป็น "ทุนปัญญา" หรือ "แรงสมอง" จึงจะสอดคล้องกับความเป็น "ยุคแห่งความรู้เป็นฐาน"
โลกเราเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคไอที เข้าสู่ยุคความรู้แล้วนะครับ
จึงต้องมีวิธีมอง "ความรู้" ในมุมมองใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่
วิธี มองความรู้แบบที่ผิด หรือแบบที่เกิดพลังน้อย คือ มองความรู้โดด ๆ แยกส่วนออกจากคน ความรู้จะมีพลังต้องเป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับคน นี่คือการพลิกกระบวนทัศน์ข้อที่ 1
ความรู้ที่แยกออกจากคน จะเป็นความรู้ที่ไร้ชีวิต ไร้วิญญาณ แข็งทื่อ คงที่ ไม่มีพลวัต ไม่มีความสามารถที่จะเจริญงอกงาม
ต่อเมื่อแนบแน่นอยู่กับคน ความรู้จึงจะมีชีวิต ดิ้นได้ ปรับตัวได้ ขยายตัวและเจริญงอกงามต่อไปได้ไม่มีสิ้นสุด
เพราะ จริง ๆ แล้วจุดกำเนิดของความรู้คือ สมองของคน เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในสมอง ชี้แจงออกมาเป็นถ้อยคำหรือตัวอักษรได้ยาก เรียกว่า ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่จริงความรู้ที่ฝังลึกนี้ยังอยู่ในหัว (สมอง), ใจ (หัวใจ จิตใจ) และมือ (head, heart & hand) คือฝังอยู่ในความคิดความเข้าใจลึก ๆ (สมอง), อยู่ในความเชื่อ ค่านิยม ความศรัทธา (ใจ), และอยู่ในทักษะทางมือและทักษะอื่น ๆ ความรู้ฝังลึกนี้อยู่ในคน ถ่ายทอดโดยตรงจากคนสู่คนและตายไปกับคน
อารยธรรม ของมนุษย์เกิดขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักจารึกความรู้ฝังลึกออกมา เป็นความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้ง (explicit knowledge) คือ เป็นตัวหนังสือ รูปภาพ และรหัสแบบอื่น ๆ ความรู้เหล่านี้ไม่ตายไปกับคน และสามารถถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ได้จำนวนมาก โดยไม่ต้องสัมผัสกับคนที่เป็นต้นตอของความรู้ ความรู้แบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ความรู้ที่เข้ารหัส" (codified knowledge)
การ ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์เมื่อ 500 ปีก่อนโดยกูเต็นเบิร์ก ทำให้ความรู้เปิดเผยชัดแจ้งสามารถแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งเข้าสมัยไอที ยุคอินเตอร์เน็ต ความรู้ชนิดนี้ยิ่งเต็มบ้านเต็มเมืองจนกลายเป็น "ความรู้ขยะ" อย่างที่เราเผชิญกันอยู่
พอ จะเห็นชัดใช่ไหมครับ ว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง (ก่อนจะมีแท่นพิมพ์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว) มนุษย์เราสัมผัสอยู่กับความรู้ชนิด "ความรู้ฝังลึก" ทั้งหมด เราเรียนแบบปากต่อปาก เรียนแบบฝึกทำด้วยกัน อยู่ด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ฝังลึกระหว่างกัน
เครื่อง พิมพ์ หนังสือ ไอที และระบบการศึกษาได้มอบความเคยชินใหม่แก่มนุษย์ คือ "ความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้ง" เวลานี้เวลาเราพูดว่า "ความรู้" เราหมายถึงความรู้ชนิดนี้ ไม่ได้คิดถึงความรู้ในรูปแบบดั้งเดิมคือ "ความรู้ฝังลึก" เลย
มนุษย์เราหลงผิดในเรื่องความรู้ด้วยประการฉะนี้.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 1 มีนาคม 2547
วิจารณ์ พานิช
|