บนความยากของเนื้องาน และความใหม่กับ OM แต่ช่วยทำให้ Mile Stone ของแผนงานฯ ชัดมากขึ้น แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ PDF พิมพ์ อีเมล

บนความยากของเนื้องาน และความใหม่กับ OM

แต่ช่วยทำให้ Mile Stone ของแผนงานฯ ชัดมากขึ้น

แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ

ดาวน์โหลดเอกสารโครงการ pdf_icon

แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ เป็นแผนงานที่ดำเนินการโดยมีเป้าหมายเพื่อให้
คณะแพทยศาสตร์หรือสถาบันผลิตแพทย์ในสังกัดกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) จำนวน ๑๘ สถาบัน ได้พัฒนาเป็นโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ และเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพ มีศักยภาพในการดำเนินการและการจัดการตามภารกิจในด้านการเรียนการสอน พัฒนาโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การบริการรักษาพยาบาล การวิจัย รวมทั้งพัฒนาเครือข่าย
ในการผลักดันขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น ได้แก่ อาชีวอนามัย การจัดการความรู้และระบบฐานข้อมูลสุขภาพ กิจการนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เพื่อเป็นตัวอย่างด้านเนื้อหาและกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนช่วยชี้นำสังคม โดยใช้ปรัชญาการสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งเน้นการผลิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีความตระหนัก และดำรงวิชาชีพ
ด้วยหลักการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเป็นต้นแบบให้ประชาชนและชุมชนใส่ใจสุขภาพ และสามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งเกิดสังคมสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของแผนงานฯ กับเครื่องมือ OM

 

โดยปัจจุบัน แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ ได้ดำเนินการมาจนถึงระยะที่ ๔ แล้ว
ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะที่มีการวางแผนการดำเนินด้วยเครื่องมือ OM อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแผนรวมของแผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ และแผนการดำเนินงานเชิงประเด็นของทั้ง ๔ เครือข่าย

 

HealthyMedSchool_html_m3770a5bb (Small)

 

คุณอุดมศรี คำเพราะ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ ได้กล่าวถึง
การนำเครื่องมือ OM มาใช้กับแผนงานฯ ไว้ดังนี้

 

เนื่องจาก ตอนปลายของการดำเนินงานแผนงานฯ ระยะที่ ๓ สสส. แนะนำให้ใช้ OM ในการจัดทำแผนงานต่างๆ ซึ่งปัญหาก็คือว่า ให้เขียนแผนเองทั้งหมด ทำไม่ได้ เพราะเรามีสมาชิกในแผนงานฯ ที่เป็นสถาบันผลิตแพทย์ จำนวน ๑๓ แห่ง (ปัจจุบันมีสถาบันผลิตแพทย์เปิดใหม่ เข้าร่วมอีก ๕ แห่ง) รวมเป็น ๑๘ แห่ง และยังมีการผลักดันเชิงประเด็น ที่เน้นการทำงานแบบเครือข่าย อีก ๔ เครือข่าย คือ เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เครือข่ายกิจการนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายการจัดการความรู้และระบบฐานข้อมูลสุขภาพ และเครือข่ายอาชีวอนามัย ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะมีคณะกรรมการเครือข่ายอีกเครือข่ายละประมาณ ๑๒ – ๒๔ คน

ดังนั้น การจะให้แผนงานฯ เขียนแผนแบบ OM ได้ เครือข่ายทั้งหมดต้องเข้ามาเรียนรู้เครื่องมือ OM ด้วย เพื่อที่จะสามารถไปเขียนแผนของแต่ละเครือข่ายมาให้กับแผนงานฯ เพื่อรวบรวมเป็นแผนงานรวมได้ แต่ในการเรียนรู้ OM ครั้งแรก ที่ สสส. จัดขึ้น ที่จังหวัดกาญจนบุรี เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ มีดิฉันเข้าร่วมอบรมเพียงคนเดียว

แต่ก็รู้สึกว่า OM ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก เมื่อกลับไป ก็ต้องไปสรุปให้ทีมคณะทำงานของแผนงานฯ ทราบว่า OM คืออะไร เป็นอย่างไร แล้วจะใช้ OM แบบไหน ซึ่งแต่ละเครือข่ายรับทราบว่า จะต้องนำ OM
ไปใช้ในวางแผนการดำเนินงานของเครือข่ายของตัวเอง

ต่อมาได้เชิญ สคส. ให้ไปพูดเรื่อง OM ให้กับเครือข่ายของเราฟัง วันที่ ๓๐ มกราคม พ.. ๒๕๕๐ เป็นเวลาครึ่งวัน แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติหรือทดลองทำ เป็นการพูดสรุป Concept OM และในครั้งนั้น
ได้มีคณะทำงาน ที่เป็นคุณหมอ บางคนที่เข้าใจเพิ่มมากขึ้น หลังจาก สคส. บรรยายจบ ก็ได้มอบหมายให้
ทุกเครือข่ายนำ OM ไปจัดทำแผนของเครือข่าย แต่ละเครือข่ายก็พูดคุยหารือกันต่ออีกครึ่งวัน

หลังจากนั้น ทีมประสานงานของแผนงานฯ ได้จัดประชุมทีมคณะทำงาน ระยะ ๓ ก็สรุปได้ว่า
ต้องนัดประชุมเพื่อให้แต่ละเครือข่ายจัดทำแผนระยะ ๔ ของแต่ละเครือข่ายต่อเลย

HealthyMedSchool_html_m79d53796 (Small)

ต่อมาจึงได้จัดประชุมเพื่อให้แต่ละเครือข่ายทั้งหมด มารวมกันอีกครั้ง เพื่อจัดทำแผนระยะ ๔
โดยใช้เครื่องมือ OM เมื่อแต่ละเครือข่ายได้แผนของเครือข่ายเองแล้ว ทีมทำงานส่วนกลาง ก็นำแผนฯ
ของแต่เครือข่ายมาทำเป็นแผนรวมของแผนงานฯ โดยแต่ละเครือข่ายได้มีการนำเสนอแผน OM
ของเครือข่าย ทั้งหมด ๓ ครั้ง

เมื่อทำแผนการดำเนินงานระยะที่ ๔ เสร็จแล้ว ทาง สสส. ได้จัด อบรม Workshop OM Planning
อีกครั้ง เดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ซึ่งในครั้งนี้ มี สคส. ดำเนินกระบวนการเรียนรู้ให้ ซึ่งในครั้งนี้ ทำให้เริ่มเข้าใจ OM เพิ่มมากขึ้น และได้มีการนำแผนงานของแต่ละเครือข่ายที่วางไว้ก่อนแล้วนั้น มาทบทวน ทำให้คณะทำงานของแต่ละเครือข่าย เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

 

HealthyMedSchool_html_m2d9b93ca (Small)

หลังจากนั้น ได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีติดตามและประเมินผลด้วย OM และ KM ที่ สสส. จัด และ สคส. ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนการเช่นเดิม ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ ในครั้งนี้ ได้มีโอกาสในการทบทวนตัวชี้วัด และมีการกำหนดข้อกำหนดที่ถือเป็นแนวปฏิบัติของการเป็นโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ ได้มาทั้งหมด ๑๒ ข้อ ได้ชัดเจนขึ้น และได้มีการระดมความคิดจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เมื่อมีข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้ให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และสถาบันผลิตแพทย์ทุกสถาบัน ลงนามข้อตกลง ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และเป็นที่มาของ Proposal ฉบับที่เสนอให้ สสส. โดย Proposal เป็นแผน ๓ ปี
ที่เขียนด้วย OM ซึ่งมีทั้งแผนรวมของแผนงาน และแผนงานของแต่ละเครือข่าย แยกให้เห็นอย่างชัดเจน
อีกด้วย”

HealthyMedSchool_html_m54020eef (Small)   HealthyMedSchool_html_m33d0d6d0 (Small)

ระยะของการดำเนินงานตามแผนงานที่ใช้เครื่องมือ OM

 

ปัจจุบัน แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ ได้เริ่มดำเนินงานตามแผนการดำเนินงาน
ที่เขียนด้วย OM ไประยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ แผนงานฯ ได้มีการจัดประชุมประจำปีของแผนงานฯ ซึ่งมีสมาชิกสถาบันผลิตแพทย์ในสังกัดกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ๑๘ สถาบัน แต่จะมีเพียง ๑๓ สถาบัน ที่เป็นสมาชิกเดิม ส่วนอีก ๕ สถาบัน เป็นสถาบันผลิตแพทย์เปิดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้เรียนรู้หรือรู้จักเครื่องมือ OM มากนัก

การประชุมประจำปี ๒๕๕๒ ของแผนงานฯ ในครั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการสรุปรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสถาบันผลิตแพทย์ และการผลักดันการสร้างเสริมสุขภาพใน ๔ ประเด็นหลักดังกล่าว รวมทั้งเป็นเวทีในการทบทวนการทำงาน และจะร่วมกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันต่อไป เพื่อให้ภายใน ๓ ปี สถาบันผลิตแพทย์ทั้ง ๑๘ แห่ง จะต้องเป็นโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ

 

การดำเนินงานในระยะ ๔ จะมีอยู่เพียง ๑๓ แห่ง ที่เป็นสถาบันผลิตแพทย์ สมาชิกเครือข่ายเดิม
ซึ่งทั้ง ๑๓ แห่ง ก็จะมีการดำเนินงานใน ๔ เครือข่ายหลัก หรือ ๔ ประเด็นหลักเป็นอย่างน้อย คือ การจัดการความรู้และระบบฐานข้อมูลสุขภาพ อาชีวอนามัย กิจการนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้ง ๑๘ สถาบัน แต่ละแห่งก็จะมารายงาน
ผลการดำเนินงาน เพื่อดูความก้าวหน้าของแต่ละเครือข่ายว่า สถาบันฯ หรือเครือข่ายของตนเอง
ได้ดำเนินการอะไรไปแล้ว ดำเนินการไปถึงขั้นไหนของ Progress Marker เพื่อที่จะสรุปและจัดทำเป็นรายงานความก้าวหน้าเสนอให้กับ สสส. ต่อไป และก็เป็นการติดตามความก้าวหน้าของสมาชิกและเครือข่ายไปด้วยเลย เพื่อที่จะเกิดการรับรู้และร่วมกันทำงานต่อไป ให้บรรลุตามสิ่งที่ได้วางแผนไว้ร่วมกัน

ส่วนเครือข่ายที่ใช้เครื่องมือ OM ได้ลึกและลงรายละเอียดจริงๆ คือ เครือข่าย Palliative Care เพราะมี คุณหมอสกล สิงหะ ที่เข้าร่วมอบรม OM กับ สสส. แทบทุกครั้ง และมีความเข้าใจ OM เป็นอย่างดี จึงทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด เผยแพร่ และเป็นวิทยากร OM ให้กับเครือข่ายฯ ด้วย

HealthyMedSchool_html_m3bd45877 (Small)

อีกทั้งคณะกรรมการบริหาร ก็มีจำนวนเล็ก ประมาณ ๑๒ คน ทำให้คล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่าเครือข่ายอื่นๆ และจุดดีอีกอย่างหนึ่งของเครือข่าย Palliative Care คือ ขับเคลื่อนงานประเด็นเดียว ในขณะที่เครือข่ายกิจการนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีประเด็นอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะกว่า หรือเครือข่ายการจัดการความรู้ฯ ก็มีประเด็นอื่นแตกเพิ่มขึ้นมาอีก นอกเหนือจากประเด็นการจัดการความรู้
เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ แล้วยังมีการจัดการความรู้ในประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น ส่วนเครือข่าย
อาชีวอนามัย ผลักดันประเด็นเดียวเหมือนกัน แต่หากเทียบกันแล้ว ทีมทำงานของเครือข่ายอาชีวอนามัย
ก็ยังหลวมกว่าทีม Palliative Care

สำหรับในส่วนของขั้นตอนการติดตามประเมินผล ที่ต้องมีการบันทึกด้วย Journal ทำให้ขณะนี้
เริ่มประสบปัญหาในการบันทึกการติดตามผลการดำเนินงานอยู่พอสมควร แต่หากเป็นสถาบันผลิตแพทย์
ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะของกระทรวงฯ มีการอบรมเรื่องการติดตามประเมินผลในรูปแบบที่คล้ายๆ กันอยู่บ้าง ทำให้สถาบันผลิตแพทย์ ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ค่อนข้างคุ้นชินกับรูปแบบการบันทึกติดตามผลการดำเนินงาน และของกระทรวงฯ มีคนที่ทำหน้าที่เขียนรายงาน
ผลการดำเนินงานอยู่แล้ว

แต่สำหรับสถาบันผลิตแพทย์ ที่สังกัดมหาวิทยาลัย จะไม่ค่อยมีรูปแบบการติดตามประเมินผล
การดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้มากนัก ลักษณะการเขียนรายงานผลการดำเนินงานก็จะต่างกัน ทำให้ค่อนข้างอึดอัดต่อรูปแบบการบันทึกผลการดำเนินงานด้วยการบันทึกลงในรูปแบบ Journal ของ OM

ในขั้นของการติดตามผลการดำเนินงานด้วยการบันทึกใน Journal จึงอาจจะใช้ยาก บางคนก็ทำได้ ถ้าหากว่า บางคนเคยเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการของการติดตามประเมินผล ทำให้การเขียนบันทึก
จะง่าย ไม่อึดอัด สามารถจะเขียนออกมาได้ตามกรอบของการติดตามประเมินผล หรือที่มีอยู่ใน Journal และ Journal ที่เครือข่ายกำหนดกันไว้ ก็ได้นำตัวอย่างของต้นฉบับ OM มาแปลงใส่ตัวชี้วัดของแผนงาน ที่เรา
วางไว้ โดยใช้รูปแบบของ Journal ตามต้นฉบับ OM เลย ทำให้ค่อนข้างอึดอัด เพราะเราไม่เคยชิน
กับการกรอกอะไรเยอะแยะตาม Journal เช่นนั้น

นอกจากนั้น สถาบันผลิตแพทย์ แต่ละแห่งค่อนข้างใหญ่ และมีภารกิจเยอะ เวลาเรียกประชุม
ครั้งหนึ่ง ก็จะมีการส่งผู้แทนเข้าร่วม แทบทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คณบดี ที่จะเข้าร่วมทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านภารกิจเยอะมาก ทำให้ค่อนข้างขาดความต่อเนื่อง และความยากที่อย่างหนึ่ง คือ มีการหมดวาระ
ของคณบดี ที่เป็นคณะกรรมการบริหารแผนฯ ที่หมดวาระไป ฝ่ายประสานงานส่วนกลางจะต้องไป
ทำความเข้าใจกับคณะกรรมการบริหารแผนฯ ที่เข้ามาใหม่ทุกครั้ง

ตอนนี้เท่าที่ทำได้ คือ เอาเท่าที่ได้ ไม่ต้องสมบูรณ์มาก ส่วนไหนทำได้ เดินหน้าได้ ก็เดินไปก่อน
ส่วนไหนค่อยๆ ทำ เพิ่มเริ่มเรียนรู้ ก็ค่อยๆ ทำไป คิดว่า ทำไปเรื่อยๆ ก็น่าจะได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เนื่องจากเราพยายามใช้การติดตามประเมินผล ในการติดตามกระบวนการและผลการดำเนินงานของแผนงานใหญ่ และของเครือข่าย โดยทีมผู้ประเมินภายใน จัดทำแนวคำถามตาม Progress Marker และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Activities) ของภาคีหลักในทุกเครือข่าย ส่งให้เครือข่ายและสถาบัน ใช้เป็นแนวทางในการประเมินตนเอง เพื่อส่งกลับมายังคณะทำงานของแผนงานฯ จึงเรียกได้ว่า คณะทำงาน
ของแผนงานฯ ใช้กลยุทธ์การสะท้อนการดำเนินการ โดยผู้จัดการแผนงานฯ มีการทบทวนผ่านผลการสรุปความก้าวหน้าของเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

 

OM ช่วยทำให้ Mile Stone ของแผนงานฯ ชัดมากขึ้น

 

แม้ในการดำเนินงานตามแผนแบบ OM จะพบข้อจำกัด และอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ OM
มีส่วนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้วการเขียนวิสัยทัศน์และพันธกิจ ส่วนใหญ่ผู้บริหารเป็นผู้กำหนด แต่ OM ช่วยให้เราเข้าใจร่วมกัน และร่วมมือกันตั้งแต่แรกเริ่ม ฉะนั้น ความสวยงามของ OM คือ การผ่านความคิดของคนทุกระดับ ทุกแนวคิด
ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังช่วยทำให้เรา Focus งานที่ชัดขึ้น

และเท่าที่ได้ฟังจากเครือข่าย ก็ดูเหมือนจะดี ใช้ได้ มีประโยชน์ ทำให้มองเห็นทิศทางงานชัดเจนมากขึ้น พฤติกรรมของคนทำงานเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราไม่ได้มองไปถึงจุดย่อยๆ แต่ OM ทำให้เราได้มองในรายละเอียดปลีกย่อยที่เล็กมากและมองไปให้ถึงอนาคตได้ว่า เราจะก้าวไปถึงไหน

ที่สำคัญ OM ทำให้ตัวเอง เข้าใจบทบาทในการประสานงานของแผนงานฯ และเครือข่ายมากขึ้น คือ การทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ซึ่งมีความสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ทุกขั้นตอนดำเนินงานไปได้ ทำให้การทำงานราบรื่นไปตลอด

อีกส่วนหนึ่งที่ OM เข้ามามีบทบาทมากๆ คือ ขั้นตอนการติดตามและประเมินผล ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผล ได้กระตุ้นการทำงานของแผนงานฯ และเครือข่ายได้อย่างดี สามารถชี้จุดอ่อนและจุดแข็งได้ชัดเจนมากยิ่งนั้น

OM เป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานในส่วนนี้ชัดขึ้น นอกจากนั้น การติดตามและประเมินผลเช่นนี้ ยังเป็นการสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานจริงอีกด้วย

HealthyMedSchool_html_m7c3d00ab (Small)

แต่ปัญหามันเป็นเรื่องของความไม่คุ้นเคย ถ้าจะให้ใช้ได้จริงๆ จะต้องให้คนที่ทำทุกคนมีความเข้าใจ OM ตรงกัน แต่ที่หนักที่สุด คือ เรื่องของเวลาที่ไม่ค่อยจะมีกัน ตัวเครื่องมือ เพราะแผนงานของเรา
มีผู้ที่เกี่ยวข้องเยอะและมีความเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก การทำความเข้าใจเรื่องของ OM อาจจะไม่ค่อยทั่วถึงกันมากนัก

คิดว่า OM น่าจะเหมาะกับการทำงานลักษณะที่เป็นโครงการ มากกว่าแผนงาน เพราะแผนงาน
ต้องมีเครือข่ายหรือภาคีเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะกว่ามาก คิดว่า OM อาจจะไม่ค่อยเหมาะ แต่ถ้าจะเป็นลักษณะแผนงาน ที่มีความซับซ้อนกว่าโครงการ ก็น่าจะเป็นแผนงานที่ดำเนินการเพียงประเด็นเดียว OM ก็น่าจะเหมาะ

และคนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจตรงกัน ต้องมีเวลา และมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินงาน โดยใช้เครื่องมือ OM

ตรงนี้ จึงมีปัญหาในแง่ที่ทุกคนใหม่กับเครื่องมือนี้ ก็ต้องมาเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันใหม่

เครื่องมือดี มีประโยชน์ แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ เรื่องของการทำความรู้จัก การสร้างความเข้าใจ และการทำให้เกิดความุค้นเคยให้กับคนที่เกี่ยวข้องหรือคนที่ต้องนำเครื่องมือนี้ไปใช้ เขาจึงจะนำไปใช้ และประโยชน์มันจึงจะเกิดขึ้นตามมา แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีการทำให้คนรู้จักเครื่องมือ ก็ไม่สามารถจะให้เขียนออกมาเป็นแผนโดยใช้ OM ได้”

 

ข้อเสนอแนะต่อการผลักดันและเผยแพร่เครื่องมือ OM

 

คุณอุดมศรี คำเพราะ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการผลักดันและเผยแพร่เครื่องมือ OM ให้เป็นรู้จักและนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย
ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

เราจะขยายฐานของคนที่เข้าใจ OM เพิ่มขึ้นออกมาได้อย่างไร เพื่อให้มันเกิดเหมือนเป็น CoP เพราะ OM เป็นเครื่องมือใหม่ และยังไม่ได้รับการเผยแพร่มาก และคนจะติดเรื่องของ
ความเคยชินในเครื่องมือแบบเดิม ฉะนั้น จะต้องมีการทำให้คนรู้จักและเข้าใจ OM มากขึ้น

สิ่งที่ สสส. จะต้องทำต่อ คือ การทำความเข้าใจเครื่องมือ OM ให้กับภาคีเครือข่าย
ของ สสส. อย่างต่อเนื่อง และต้องมีการรวบรวมและเผยแพร่ Best Practices ของการประยุกต์ใช้ OM ที่เป็น Best Practices ในหลายระดับ ทั้งซับซ้อนและไม่ซ้บซ้อน จะได้นำตัวอย่างจาก Best Practices ไปใช้ให้ตรงกับงานของตนเองได้

นอกจากนั้น สสส. ควรจะต้องทำเป็นหลักสูตร OM ออกมาเลย ตลอดทั้งปี ภาคีเครือข่ายสามารถ
จะดูและเลือกที่จะสมัครเข้าอบรมในแต่ละรุ่นได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถขยายฐานภาคีเครือข่ายที่รู้จักและเข้าใจ OM ได้เลย และที่สำคัญต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง”

 

แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ เป็นแผนงานใหญ่ และเป็นการทำงาน
แบบเครือข่าย มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย แต่เนื่องจากสามารถผลักดันให้ OM เข้าไปเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินงานของแผนงานฯ ระยะที่ ๔ ได้อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งผู้ที่รับผิดชอบ ล้วนเป็นผู้ที่มีพลังปัญญาและความมุ่งมั่นสูง มีศักยภาพในการสื่อสารถ่ายทอดให้กับเครือข่าย
ได้รับรู้และเข้าใจเครื่องมือ OM ได้โดยไม่ยาก แม้บางเครือข่ายจะมีภารกิจมากมาย และเวลา
ไม่เอื้ออำนวยมากนัก ประกอบกับบางขั้นตอน อาจจะยุ่งยากต่อการใช้งานจริงๆ ไปบ้างก็ตาม
แต่ผลที่ได้รับจากการนำเครื่องมือ OM ไปใช้ในการดำเนินงานของแผนงานฯ และเครือข่ายทั้ง ๔ เครือข่าย ก็ช่วยทำให้ Mile Stone หรือเป้าหมายรายทางของแผนงานฯ ชัดมากขึ้น และจะคมชัดมากขึ้นเรื่อยๆ หากได้มีการทำความเข้าใจและเผยแพร่คุณประโยชน์ของเครื่องมือ OM ให้ได้รับรู้และเกิดความเข้าใจ ตลอดจนผลักดันให้มีการนำเครื่องมือนี้ไปใช้งานจริงๆ ในการทำงาน
หรือการดำเนินโครงการหรือแผนงานพัฒนาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

แผนงานโรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาวะ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

๑๒/๒ ซอย ๓ ศิริมังคลาจารย์ ตำบลสุเทพ

อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่