ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้

ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด
ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

 

ปัญญา คืออะไร เราจะพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในแวดวงการศึกษาผมมักจะได้ยินอาจารย์หลายท่านอธิบายคำว่าปัญญา ในความหมายที่ไม่ค่อยจะแตกต่างไปจากคำว่าความรู้เท่าใดนัก มีที่ละเอียดขึ้นหน่อย ก็อธิบายในทำนองที่ว่า ปัญญา คือ ความสามารถในการใช้ความรู้ เมื่อผมลองศึกษาดูจากหลักทางพุทธศาสนาก็พบว่ามีการอธิบายที่มาของปัญญาว่าจะ ต้องมาจากศีล และสมาธิ (ตามหลักไตรสิกขา) กล่าวคือถ้าไม่มีสมาธิ ก็ไม่เกิดปัญญา และถ้าไม่มีศีลก็จะไม่มีสมาธิ โดยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้อธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า เรื่องของศีลเองก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันก็มีขึ้นได้ จะต้องอาศัย ปัญญาก่อนจึงจะมีศีล จึงทำให้เห็นว่าโดยแท้จริงแล้วทั้งสามสิ่งนี้ ต่างก็เวียนวนปนอยู่ด้วยกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้คล้ายกับเชือกสามเกลียวที่พันอยู่ด้วยกัน

บาง ตำราก็บอกว่า ปัญญา ต้องพัฒนามาจากสติ ดังที่เรามักจะได้ยินคำสองคำนี้อยู่คู่กันเสมอว่า สติปัญญา ปัญญากับความรู้นั้นถ้าดูให้ดีแล้วจะพบว่าไม่ใช่สิ่งเดียวกันเหมือนอย่างที่ หลายคนเข้าใจ เรามักจะเห็นเป็นตัวอย่างอยู่เสมอโดยเฉพาะตามพาดข่าวหนังสือพิมพ์ ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความรู้สูงนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเสมอ ไป ความรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสมอง ในขณะที่ปัญญานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ คนที่มากด้วยความรู้แต่จิตใจไม่ดีจึงเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาไปโดยปริยาย เมื่อพูดถึงปัญญาและความรู้แล้ว คงต้องขอกล่าวถึงคำที่เกี่ยวข้องอีกสองคำ ซึ่งก็คือคำว่า Information และ Data โดยจะเรียก Information เป็นภาษาไทยว่า "สารสนเทศ" และเรียก Data ว่า "ข้อมูล"

ผู้ ที่อยู่ในแวดวงคอมพิวเตอร์คงจะเข้าใจความความหมายและความแตกต่างระหว่าง คำว่า ข้อมูล และสารสนเทศเป็นอย่างดี ว่าเราจะใช้คำว่า ข้อมูล ในกรณีที่เป็นข้อมูลดิบ (Raw Data) และใช้คำว่าสารสนเทศในกรณีที่ข้อมูลนั้นๆ ได้ผ่านกระบวนการ (Process) บางอย่างมาแล้วจนทำให้ได้มาซึ่งรูปแบบที่สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ (Decision-making) ได้ในขณะเดียวกันก็มีผู้อธิบายคำว่าความรู้ในทำนองที่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจ ในสารสนเทศถึงระดับที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เกิดความเข้าใจในบริบทและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องจนอาจสร้างออกมาเป็นทฤษฎี หรือเป็นแบบจำลองทางความคิดได้ สิ่งนั้นก็น่าจะเข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่าความรู้ หรือ Knowledge ได้

ถึง แม้ในปัจจุบันเราจะให้ความสำคัญเรื่องความรู้กันค่อนข้างมาก ซี่งผมเองก็คงจะไม่ปฏิเสธว่าความรู้นั้นสำคัญและจำเป็นเพียงใด แต่สิ่งที่ผมเริ่มเป็นห่วงเป็นใยในปัจจุบันก็คือกังวลว่าถ้าเราไม่ระวังให้ ดีเราก็มีสิทธิ์ที่จะตก "กับดักความรู้" ได้เหมือนกัน คือให้ความสำคัญกับความรู้จนลืมให้ความสำคัญกับส่วนที่เป็นความรู้สึก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญญาโดยตรง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าและการให้ความหมายแก่ชีวิต เหมือนเช่นที่ T.S. Eliot (1934) ได้ประพันธ์ไว้ในบทกวีที่มีชื่อว่า The Rock ซึ่งกล่าวไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า

" Where is the life we have lost in living?

Where is the wisdom we have lost in knowledge?

Where is the knowledge we have lost in information? "

 

ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาไทย (จากบรรทัดล่างย้อนขึ้นไปบรรทัดบน) ก็จะได้ใจความในทำนองของการตั้งคำถามว่า

 

สิ่งที่เรียกว่า"ความรู้"นั้นหายไปไหน ท่ามกลาง"สารสนเทศ"ที่มีอยู่มากมายนี้

แล้วเจ้าสิ่งที่เรียกว่า "ปัญญา" ล่ะหายไปไหน ในความรู้ทั้งหลายที่เรามีอยู่นี้

อะไรคือความหมายที่แท้จริงของ"ชีวิต" ท่ามกลางการดำเนินชีวิตของเราทุกวันนี้

 

สาระ สำคัญของบทประพันธ์ชิ้นนี้เป็นการชี้ให้เราเห็นว่า การที่คนเราจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้นั้น จะต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัญญา และปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเรามัวแต่ติดอยู่แค่ความรู้ ซึ่งความรู้เองก็คงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรามั่วแต่ยุ่งหรือจมอยู่กับสารสนเทศซึ่งล้นท่วมตัวเราอยู่ในทุกวันนี้ จากตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างที่ผ่านมา คงจะเป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้วว่า ผู้ที่มีความรู้สูงไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเสมอไป ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพูนได้จากการอ่านตำหรับตำรา ส่วนการที่ปัญญาจะเกิดได้นั้น ผมเชื่อว่าจะต้องมาจากความสามารถในการอ่านจิตใจ อ่านอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตามทันความรู้สึกของตนเอง แน่นอนที่สุดเรื่อง ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิต แต่ถ้าหากเราปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปโดยปราศจากการมองเข้าข้างในเพื่อความเข้า ใจในความหมายที่แท้จริงของชีวิตแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะรู้สึกเสียใจกับเวลาที่ล่วงเลยไป โดยไปให้ความสนใจเฉพาะเรื่องข้อมูล สารสนเทศ และความรู้เท่านั้น

เดิมที เดียวผมเคยเข้าใจผิด คิดไปว่าผู้ที่มีความรู้สูงก็คือผู้ที่มีปัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้สูงจำนวนมาก ก็กลับพบว่ามีมากมายหลายท่านที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ ถึงแม้โลกจะอยู่ในยุคที่เพรียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ให้ความสะดวกสบายกับ ชีวิตมากมาย แต่ปรากฏว่าคนจำนวนมากก็ยังมีชีวิตที่ไร้ซึ่งความสุข กลายเป็นสังคม " High Tech, High ทุกข์" ท่ามกลางโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างมากมาย และคนก็มีการศึกษาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่ตามมาก็คือ "การศึกษามิได้ช่วยให้เราได้เรียนรู้ เพื่อมุ่งไปสู่ความสุขในชีวิตหรอกหรือ" และเพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ ก่อนว่า จริงๆแล้วการเรียนรู้นั้นอาจมองได้เป็น 3 ระดับ คือ (1.) รู้จำ (2.) รู้จริง และ (3.) รู้แจ้ง

ผม คิดว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันของเราคงจะเน้นอยู่ที่การเรียนรู้ในระดับแรก คือเป็นการรู้จำ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่การเรียนรู้ตามตัวบท ตามตัวหนังสือ หรือตามคำสอน เป็นการเรียนแบบที่มุ่งเน้นการท่องจำให้พูดได้ เจื่อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทอง ครั้นเมื่อถึงเวลาสอบใครที่ตอบได้ใกล้เคียงกับที่อาจารย์สอนมากที่สุดก็จะ เป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด การศึกษาแบบ "รู้จำ" นี้ ผมได้นิยามให้ครอบคลุมกิจกรรมในส่วนของการฝึกฝนอันเป็นผลมาจากการฝึกอบรม (Training) อีกด้วย เพราะเห็นว่าการฝึกฝนส่วนใหญ่ก็มักจะเน้นการจดจำขั้นตอนต่างๆ ไว้ เป็นต้นว่า เมื่อลูกค้าเปิดประตูร้านเข้ามา จะต้องกล่าวอะไรกับลูกค้าเป็นการต้อนรับ เรียกได้ว่าต้องฝึกฝนจนจำมาเป็นอย่างดีจึงจะสามารถทำได้ถูกต้องตามขั้นตอน ที่ได้รับการสอนมา ซึ่งการเรียนรู้ประเภทนี้ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี การงานหลายๆอย่างก็ต้องอาศัยการรู้จำนี้ เพียงแต่เราต้องไม่ลืมว่ายังมีการเรียนรู้อีกสองระดับที่เราจะต้องให้ความ สำคัญต่อไป อย่าหยุดการเรียนรู้อยู่เพียงแค่ระดับนี้

การ เรียนรู้ระดับที่สองเป็นเรื่องของการ "รู้จริง" ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา เพราะการเรียนรู้ระดับนี้จะเน้นที่ความเข้าใจเป็นหลัก ไม่ใช่สักแต่ให้จำได้เหมือนในระดับแรก เป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยข้อมูล อาศัยการวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องเหตุเรื่องผล เป็นการศึกษาที่อิงการปฏิบัติจริง ทั้งนี้เพื่อจะได้เกิดความแจ่มชัดในเรื่องต่างๆ เป็นการเรียนรู้อันเกิดจากการกระทำที่เรียกว่า Learning by doing เป็นการเรียนรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริง เป็นการศึกษาที่ได้มาจากการสังเคราะห์สถานการณ์ ทำให้เกิดความเข้าใจในบริบท จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับ การเรียนรู้ในระดับสุดท้าย ถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปัญญาโดยตรง เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ในระดับ "รู้แจ้ง" อันหมายถึงการเรียนรู้ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของความจำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจผ่านการกระทำ ผ่านความรู้สึก เป็นเรื่องของสามัญสำนึก และจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการมองโลก สรุปว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจโดยตรง การเรียนรู้ 2 ระดับแรกสอนให้คน "คิดเป็น ทำเป็น" ส่วนการเรียนรู้ในระดับที่ 3 จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คน "คิดถูก ทำถูก"

ผม เชื่อว่าเมื่อผู้บริหารมีความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ทั้ง 3 ระดับนี้แล้ว เป้าหมายในการบริหารองค์กรเพื่อให้ได้มาซึ่ง "งานที่ได้ผล และคนที่เป็นสุข" ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก

------------------------------

เรียบเรียงจากบทความเดิมที่เขียนลงหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ e-Motion เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544

 
เป็นแฟน สคส.
ติดตาม
คลิ๊ปวีดีโอ